คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622-7623/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 5 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มาส่งให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างทางถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและยึดเมทแอมเฟตามีนได้เสียก่อน จำเลยที่ 4 ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองเมทแอมเฟตามีนจากผู้ขาย จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีความผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อให้ถึงปลายทาง และการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 5 ขณะกระทำความผิดเนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 5 อยู่ระหว่างถูกจับกุมและการจับกุมยังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 86 เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว เมื่อข้อแตกต่างมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
สำหรับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง รวมมากับฟ้องสำนวนหลังด้วย ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นสำนวนแรก การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ในสำนวนหลังอีก จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 5 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 8, 10, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด และนับโทษจำเลยที่ 4 ทั้งสองสำนวนต่อกัน
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 4 ในสำนวนแรกที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม)) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และจำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่เมื่อเรียงกระทงลงโทษแล้ว คงให้ลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 5 จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และเมื่อลงโทษจำเลยที่ 5 จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวแล้ว จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยที่ 5 เป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ได้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้ค้ายาเสพติดให้โทษโดยตรง เป็นเพียงผู้รับจ้างขนและรับช่วงขนยาเสพติดให้โทษของกลางเท่านั้น เห็นสมควรลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 4 เดือน ริบของกลางทั้งหมด ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย.1667/2544 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย.5862/2543 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า ศาลได้รวมการพิจารณาพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องนับโทษต่อตามที่โจทก์ขออีก คำขอในส่วนนี้กับคำขอที่ให้ระวางโทษจำเลยที่ 5 เป็นสามเท่าจึงให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก วรรคสอง) (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) รวม 2 กระทง แต่ให้คงจำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตลอดชีวิต ไม่ปรับบทมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด จากจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 4 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าน้ำมันรถจำนวน 1,000 บาท ไปมอบให้จำเลยที่ 1 ที่จังหวัดนครสวรรค์เพื่อให้จำเลยที่ 1 สามารถขับรถบรรทุกขนเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้จำเลยที่ 4 ยังจุดหมายปลายทางได้ การที่จำเลยที่ 5 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มาส่งให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างทางถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและยึดเมทแอมเฟตามีนได้เสียก่อน จำเลยที่ 4 ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองเมทแอมเฟตามีนจากผู้ขาย จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีความผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อให้ถึงปลายทาง และการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 5 ขณะกระทำความผิด เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 5 อยู่ระหว่างถูกจับกุมและการจับกุมยังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว เมื่อข้อแตกต่างมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง เป็นสำนวนหลัง ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 46,870 เม็ด จากจำเลยที่ 5 ดังนั้น จำเลยที่ 4 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนจำนวนนี้ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 46,870 เม็ด ตามฟ้อง ส่วนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ซึ่งโจทก์ฟ้องรวมมากับสำนวนหลังด้วยนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นสำนวนแรก การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 29,795 เม็ด ในสำนวนหลังอีกจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 53 ลงโทษจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 22 ปี 2 เดือน 20 วัน จำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 90, 91 เป็นความผิดสองกรรม แต่ละกรรมเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยก สำหรับโทษของจำเลยที่ 5 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share