แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๑
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลแรงงานกลางและศาลปกครองกลางให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๐ นายจิรวัฒน์ สังขมี โจทก์ ยื่นฟ้องการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ๑ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ๒ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ๓ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่ ๔ นายจารุบุณณ์ ปาณานนท์ ในฐานะรองผู้ว่าการฝ่ายการตลาดในประเทศ ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๐๙/๒๕๕๐ ความว่า จำเลยที่ ๑ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพ.ศ. ๒๕๒๒ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๕ ได้รับเงินเดือน ๑๖,๓๓๐ บาท โจทก์เป็นผู้ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำโดยได้รับการประเมินให้คะแนน ๓๐๐ คะแนน จากคะแนนรวม ๕๐๐ คะแนน ตามที่กำหนดในคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๐๗/๒๕๓๘ เรื่อง หลักเกณฑ์การเลื่อนระดับตำแหน่งของพนักงาน ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๘ โจทก์จึงเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเลื่อนระดับตำแหน่งเป็นพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๖ การเลื่อนระดับตำแหน่งของโจทก์จากระดับ ๕ เป็นระดับ ๖ เป็นการเลื่อนระดับตำแหน่งที่โจทก์ครอบครองอยู่ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างในสายงานของโจทก์ มิได้มีการแข่งขันกับสายงานอื่น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔กำหนดว่าผู้ที่ผ่านการประเมินต้องได้รับคะแนนประเมินตั้งแต่ ๔๐๐ คะแนนขึ้นไป (คิดเป็นร้อยละ๘๐) ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ ๑ กำหนดนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานตามความในมาตรา ๒๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๒ ไม่ออกคำสั่งแต่งตั้งเลื่อนระดับให้โจทก์เป็นระดับ ๖ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นนายจ้างร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์ โดยไม่เลื่อนโจทก์เป็นพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๖ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๖ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ ๑ร่วมกันดำเนินการบริหารงานของจำเลยที่ ๑ โดยปฏิบัติและยึดถือตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยสุจริต การที่โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนเป็นระดับ ๖ เป็นเพราะความรู้ความสามารถในการทำงานของโจทก์ไม่ถึงระดับและโจทก์ต้องปรับปรุงการปฏิบัติงานของโจทก์ด้านการติดต่อประสานงานและด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ตามที่ผู้บังคับบัญชาเสนอ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีอำนาจพิจารณาในการที่จะไม่เลื่อนระดับโจทก์เป็นระดับ ๖ ซึ่งจำเลยที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเลื่อนเป็นระดับ ๖ ขอให้ยกฟ้องนอกจากนี้ จำเลยทั้งห้าโต้แย้งในคำให้การว่า ศาลแรงงานไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เนื่องจากเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายอันเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐถูกโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันฟ้องว่าละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่ออกคำสั่งเลื่อนตำแหน่งโจทก์จากระดับ ๕ เป็นระดับ ๖ ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้บังคับบัญชาไม่ให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่งตามระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่ง คดีไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือพิพาทเกี่ยวด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงานที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานหรือวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ แต่น่าจะเป็นคดีปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้ แม้จะมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่โดยที่ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ หรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการจ้างตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบกับมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่ากฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะกำหนดไว้เช่นใดก็ตามเว้นแต่รัฐวิสาหกิจนั้นจะได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. ๒๕๔๔ มิได้กำหนดให้จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ใช้บังคับแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานหรือวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลและรัฐวิสาหกิจ ว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๕ โจทก์เป็นผู้ผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำโดยได้รับคะแนน ๓๐๐ คะแนน จากคะแนนรวม ๕๐๐คะแนน ตามที่กำหนดในคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๐๗/๒๕๓๘ เรื่อง หลักเกณฑ์การเลื่อนระดับตำแหน่งของพนักงาน ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๘ โจทก์จึงเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเลื่อนระดับตำแหน่งเป็นพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๖ แต่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๓ ในฐานะรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล กลับกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ของจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดให้ผู้ที่ผ่านการประเมินจะต้องได้รับคะแนนประเมินตั้งแต่ ๔๐๐ คะแนนขึ้นไป โจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และการที่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานตามความในมาตรา ๒๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่ออกคำสั่งแต่งตั้งเลื่อนระดับให้โจทก์เป็นระดับ ๖ เป็นการร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๖ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ ๑ ร่วมกันดำเนินการบริหารงานของจำเลยที่ ๑ โดยปฏิบัติและยึดถือตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยสุจริต การที่โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนเป็นระดับ ๖ เป็นเพราะความรู้ความสามารถในการทำงานของโจทก์ไม่ถึงระดับและโจทก์ต้องปรับปรุงการปฏิบัติงาน จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีอำนาจพิจารณาในการที่จะไม่เลื่อนระดับโจทก์เป็นระดับ ๖ ซึ่งจำเลยที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเลื่อนเป็นระดับ ๖ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ ฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง”หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง และคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่ารัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์หรือสภาพการจ้างระหว่างกัน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากกรณีโจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนระดับเป็นพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับ ๖ ทั้งที่เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๐๗/๒๕๓๘ เรื่อง หลักเกณฑ์การเลื่อนระดับตำแหน่งของพนักงาน ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๘ ทำให้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๒)คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายจิรวัฒน์ สังขมี โจทก์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ๑ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ๒ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ๓ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่ ๔ นายจารุบุณณ์ ปาณานนท์ ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๕