แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนศาลชั้นต้นได้พิจารณาสืบพะยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสำนวน และนัดตัดสิน ถือว่าได้มีการพิจารณาในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว
หากปรากฏว่าในฟ้องมิได้ระบุที่เกิดเหตุ การกระทำผิดที่ไหนนับเนื่องว่าเป็นความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ส่วนหนึ่งเมื่อขาดข้อเท็จจริงอันสำคัญไปเช่นนี้ ต้องยกฟ้อง คู่ความมิได้อุทธรณ์คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาด จึงเรียกได้ว่า มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิด ซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) .
ย่อยาว
ได้ความว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ต่อศาลอาญาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในคดีนั้นโจทก์มิได้ระบุฐานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ศาลอาญาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ และได้ยื่นฟ้องคดีนี้ ซึ่งมีข้อความเช่นเดียวกับฟ้องคดีก่อน แต่ระบุฐานที่เกิดเหตุเพิ่มขึ้นเท่านั้น ศาลอาญาเห็นว่า คดีของโจทก์เป็นเรื่องฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วตาม ป.ม.วิ.อาญา มาตรา ๓๙(๔) พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นได้พิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสำนวนและนัดตัดสินเป็นการแน่ชัดว่า ได้มีการพิจารณาในความผิด ซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว หากปรากฏขึ้นว่า ในฟ้องนั้นมิได้ระบุที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดที่ไหนนับเนื่องว่าเป็นความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ส่วนหนึ่ง เมื่อขาดข้อเท็จจริงอันสำคัญไปเช่นนี้ ต้องยกฟ้อง คู่ความมิได้อุทธรณ์คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาด จึงเรียกได้ว่า มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิด ซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๓๙ (๔)
พิพากษายืน