คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7576/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290ได้บัญญัติถึงการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ไว้แต่เพียงว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา และให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งตามความในบทมาตราดังกล่าว ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อคดีถึงที่สุดกรณีจึงไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนเจ้าหนี้ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพื่อที่จะยังให้ได้รับรองคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนโดยบทบัญญัติของมาตรานี้ได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสองเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ ข้ออ้างที่ว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกันจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ย่อมจะยกขึ้นโต้แย้งไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 63130 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และวิทยุเตอริโอ อีเล็กโทนเครื่องรับโทรทัศน์สีขนาด 14 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ขนาด 16 นิ้วจำนวน 1 เครื่อง รวม 5 รายการ ซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อขายนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535 ได้เงินจำนวน 210,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 24409/2532 ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 โดยศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน712,090.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31พฤษภาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,500 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนผู้ร้อง จำเลยที่ 1 ฎีกา คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา หลังจากศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษา จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ร้อง คิดถึงวันยื่นคำร้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องทั้งต้นเงินดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ รวมเป็นเงิน 1,431,658.23 บาท ผู้ร้องสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะพึงยึดมาขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ผู้ร้องได้นอกจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ได้กล่าวมาข้างต้นขอให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามส่วน
โจทก์ไม่คัดค้าน
จำเลยที่ 1 คัดค้านว่า เนื่องจากคดีที่โจทก์อ้างคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มาขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้น คำพิพากษาในคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ในคดีดังกล่าวยังไม่แน่นอนจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้องจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง น่าจะหมายความถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่คดีถึงที่สุดแล้วผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในระหว่างนี้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ได้บัญญัติถึงการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ไว้แต่เพียงว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งตามความในบทมาตราดังกล่าว หาได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อคดีถึงที่สุดไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนเจ้าหนี้ก็มีสิทธิเพื่อที่จะยังให้ได้รับรอง คุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนโดยบทบัญญัติของมาตรานี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะประเด็นเรื่องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุด พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าวประเด็นเดียว และพิพากษาให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง ยังไม่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรค 2 เพราะประเด็นเรื่องจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ ตามที่จำเลยที่ 1 คัดค้านไว้ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้นั้นเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำแถลงเข้ามาในคดีแล้วว่า โจทก์ไม่ติดใจคัดค้านที่ผู้ร้องขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ ซึ่งแสดงว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจริง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกัน จำเลยผู้เป็นลูกหนี้จะยกขึ้นโต้แย้งหาได้ไม่ ด้วยเหตุนี้การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนให้ได้ข้อความจริงเสียก่อนว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้หรือไม่และศาลอุทธรณ์มิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้จึงหาได้เป็นการไม่ชอบด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาไม่ ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share