คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคล ที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะต้องนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำมาสืบ ดังนี้การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง และก่อนสืบพยานศาลก็ได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วแถลงว่าไม่ได้ต้องการทนายความ การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลจึงเป็นไปโดยชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ โจทก์ได้จัด อ. เป็นล่าม ซึ่งก่อนจะแปลคำเบิกความ อ. ได้สาบานตนแล้ว แม้ อ. จะเป็นเพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองเป็นล่ามก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ อีกทั้งจำเลยก็มิได้คัดค้านล่ามดังกล่าวไว้ในการสืบพยาน การเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 336, 336 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคหนึ่ง, 336 ทวิ ประกอบมาตรา 80 ฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า กรณีที่จำเลยฎีกาว่า การสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 237 ทวิ จะต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง นั้น เห็นว่า มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคลที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อเหตุมีอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะต้องนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนำมาสืบ ดังนี้แม้ผู้เสียหายจะเป็นนักท่องเที่ยว ชาวเยอรมัน แต่การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าว ก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง เพราะมิใช่การพิจารณาหลังฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง ส่วนที่การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปรากฏข้อความในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2541 เป็นการพิมพ์ข้อความแทรกมาระหว่างบรรทัดว่า “ก่อนสืบพยานได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ” ซึ่งจำเลยยกเป็นข้อพิรุธสงสัยนั้น แต่จำเลยก็มิได้ยืนยันว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ กลับเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า เนื่องจากเวลาผ่านไปนานแล้วจำเลยจำไม่ได้ว่าศาลถามหรือไม่ จึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยในเรื่องทนายความแล้ว การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลเป็นไปโดยชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนการเบิกความของผู้เสียหายผ่านล่ามที่เป็นเพื่อนผู้เสียหายและอยู่ด้วยกันในวันที่เกิดเหตุ กับไม่ปรากฏว่าล่ามดังกล่าวทางราชการรับรองแล้ว เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ นั้น โจทก์ได้จัด อ. เป็นล่ามซึ่งปรากฏว่าก่อนจะแปลคำเบิกความล่ามดังกล่าวสาบานตนแล้ว แม้ อ. จะเป็นเพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองเป็นล่ามก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ อีกทั้งจำเลยก็มิได้คัดค้านล่าม ดังกล่าวไว้ในการสืบพยาน การเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสี่ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share