แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินสอดเป็นเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 35,000 บาท พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำ 1 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้เป็นราคาแทน 5,300 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 40,300 บาท ไม่เกิน 50,000 บาททั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยตกลงสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยมีการหมั้น เมื่อไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงต้องคืนสินสอด ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่าทั้งสองฝ่ายมิได้ประสงค์จะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกสินสอดคืนได้ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 242(1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาโจทก์ทั้งสามได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2542 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์ที่ 3 ไปสู่ขอจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ 17 ปีเศษ และเป็นบุตรจำเลยที่ 2 และที่ 3เพื่อให้สมรสกับโจทก์ที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกสินสอดเป็นเงิน 35,000 บาทและสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 5,300 บาท กับเรียกของหมั้นเป็นเงิน 5,000บาท และในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์ได้มอบของหมั้นเป็นเงิน 5,000 บาท ให้ฝ่ายจำเลยไปแล้ว ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2542 มีการจัดงานแต่งงานระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยที่ 3 ฝ่ายโจทก์ได้มอบเงินสด จำนวน 30,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทราคา 5,300 บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลย และฝ่ายโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานดังกล่าวรวมเป็นเงิน 30,000 บาท แต่หลังจากงานแต่งงานจำเลยที่ 3 ไม่ยอมร่วมหลับนอนและไม่ไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปให้ความยินยอมในการจดทะเบียนสมรสนั้นเป็นการผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายโจทก์จึงทวงถามคืนของหมั้นและสินสอดแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินสินสอด 30,000บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 5,300 บาท แก่ฝ่ายโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดงานสมรสแก่ฝ่ายโจทก์ 30,000 บาท และให้จำเลยที่ 3คืนของหมั้นแก่โจทก์เป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 3 คืนให้ไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระแทน
จำเลยทั้งสามให้การว่า ในวันสู่ขอฝ่ายโจทก์ได้จ่ายเงิน 5,000 บาท ให้เป็นเงินมัดจำสินสอดเท่านั้นไม่มีการหมั้น และในวันแต่งงานฝ่ายโจทก์ได้มอบสินสอดที่ค้างชำระให้อีก 30,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 5,300 บาท โจทก์ที่ 3ไม่ได้กำหนดนัดจำเลยที่ 3 ให้ไปจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจให้ความยินยอมในการสมรส หลังจากแต่งงานแล้วจำเลยที่ 3 กับโจทก์ที่ 3 ไปพักอาศัยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาที่บ้านของฝ่ายโจทก์เป็นเวลาเดือนเศษ แต่โจทก์ที่ 3 มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจไม่อาจร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 3 จึงกลั่นแกล้งหาเหตุขับไล่จำเลยที่ 3 ออกจากบ้านกลับไปอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเดิม จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ต้องคืนเงินสินสอดตามฟ้อง การสมรสไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องจัดงานเลี้ยง เพียงแต่จดทะเบียนสมรสก็สมบูรณ์แล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเกี่ยวกับการสมรส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินสินสอดแก่โจทก์ทั้งสาม 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 มกราคม2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน5,300 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุให้สมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าสินสอดเป็นเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน35,000 บาท พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำ 1 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้เป็นราคาแทนเป็นเงิน5,300 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 40,300 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยตกลงสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยมีการหมั้น และเงินจำนวน 35,000 บาท พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นสินสอดที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนสินสอดดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า เงินจำนวน 35,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท เป็นเพียงค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ที่ 3 มิใช่เป็นค่าสินสอด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมิได้ประสงค์จะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกันแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกคืนได้ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาโจทก์ทั้งสามได้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้ยกฎีกาโจทก์ทั้งสาม คงให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกานอกจากที่คืนให้เป็นพับ