แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยแต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 6 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 (2) แต่จำเลยมีสิทธิขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ซึ่งจำเลยได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและ ครอบครัวอนุญาตแล้ว การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ไม่จำต้องขออนุญาต ให้ยกคำร้องแล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาจึงให้ยกฎีกา ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ของจำเลยและสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิจารณาแล้วให้ ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 340, 340 วรรคสอง และวรรคสี่, 340 ตรี, 371 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบรถจักรยานยนต์ อาวุธปืนออโตเมติกขนาด 7.65 มม. ซองกระสุนปืนขนาด 7.65 มม. ปลอกกระสุนปืนขนาด 7.65 มม. และขอให้จำเลยคืนเงิน 400 บาท ที่ยังไม่คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83, 340 วรรคสี่, 340 ตรี, 371 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น กับความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนยิงและใช้ยานพาหนะเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามฆ่าซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ประกอบมาตรา 53 เมื่อคำนวณแล้วเหลือโทษจำคุก 16 ปี 8 เดือน รวมสามกระทงจำคุก 16 ปี 20 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 10 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดกาญจนบุรีมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 6 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โดยคิดหักวันที่ถูกควบคุมตัวให้ด้วย ให้ริบรถจักรยานยนต์ อาวุธปืนออโตเมติกขนาด 7.65 มม. ซองกระสุนปืนขนาด 7.65 มม. และปลอกกระสุนปืนขนาด 7.65 มม. และให้จำเลยคืนเงิน 400 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี 10 เดือน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรีมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 6 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษากำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 ประกอบมาตรา 105 โดยวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 (1) แห่ง ป.อ. เป็นกักและอบรมในสถานกักและอบรมของสถานพินิจตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบรูณ์ ส่วนมาตรา 104 (2) เป็นกรณีเปลี่ยนโทษจำคุกเป็น ส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจ สถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบรูณ์เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกักและอบรมเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่แตกต่างไปจากวิธีการฝึกและอบรม ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 (2) และ (3) บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 และ 105 เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษา หรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกิน 3 ปี หรือการกักและอบรมนั้นมีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกิน 3 ปี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและ อบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรี แม้ศาลชั้นต้นกำหนดระยะเวลาฝึกและ อบรมขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 6 ปี ก็หาใช่เป็นการกักและอบรมที่ระบุเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 121 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ไม่ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตราดังกล่าว แต่จำเลยยังมีสิทธิขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 122 ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้อง ขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งว่า “ศาลมีคำพิพากษาให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจฯ มีกำหนดระยะเวลาเกิน 3 ปี จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 (2) และ (3) ตอนท้าย ไม่จำต้องขออนุญาตตามมาตรา 122 ให้ยกคำร้อง” เป็นการไม่ถูกต้อง เมื่อการรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น มิได้ผ่านขั้นตอนการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจึงไม่ชอบ
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวและยกคำสั่ง ศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ของจำเลยและสำนวนคดีไปให้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิจารณา แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป.