แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ยกขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297 (8)
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายจเร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 5 ปี และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปให้แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากที่ผู้เสียหายกอดปล้ำกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เดินจากไปแล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับมาอีกครั้งพร้อมกับจำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ยาวขนาด 1 ช่วงแขนตีผู้เสียหาย 1 ครั้ง เมื่อผู้เสียหายล้มลง จำเลยที่ 2 กระทืบบริเวณกรามซ้ายซ้ำอีกหลายครั้ง จากนั้นจำเลยทั้งสองหลบหนีไปด้วยกัน โดยไม่ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ร่วมทำร้ายผู้เสียหายด้วยก็ตาม แต่ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1 เดินจากไปแล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับมาพร้อมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ตีผู้เสียหายบริเวณกรามซ้าย 1 ครั้ง จนผู้เสียหายล้มลงบนพื้น ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ใช้เท้าเตะผู้เสียหายบริเวณกรามซ้ายพร้อมกับใช้เท้ากระทืบซ้ำที่ลำคอและกรามด้านเดียวกัน จากนั้นจำเลยทั้งสองหลบหนีไปตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งผู้เสียหายให้การหลังเกิดเหตุไม่นานนัก เชื่อว่าขณะนั้นผู้เสียหายคงไม่ทันคิดช่วยเหลือหรือปรักปรำจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายให้การไว้โดยมีเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด ที่ผู้เสียหายมาเบิกความในส่วนที่ไม่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำร้ายผู้เสียหายด้วยก็คงเป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้พ้นผิดเนื่องจากได้ความจากนายเย็น บิดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนที่ผู้เสียหายจะมาเบิกความนั้น ผู้เสียหายมาพบพยานและขอค่าเสียหาย 6,000 บาท ซึ่งพยานยินดีจะให้และผู้เสียหายบอกว่า จะมาแถลงต่อศาลว่าจะไม่เอาเรื่องกับจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาในส่วนดังกล่าว แม้บันทึกคำให้การดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ และการที่ผู้เสียหายเบิกความบ่ายเบี่ยงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี จึงรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ และแม้เหตุเกิดในเวลากลางคืน แต่ผู้เสียหายเบิกความว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากเสาไฟฟ้าห่างจากที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ประมาณ 4 วา สอดคล้องกับที่ได้ความจากพันตำรวจโทซา พนักงานสอบสวน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า พยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ และทำแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุไว้ ซึ่งภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุตรงกับภาพถ่าย และแสงสว่างของไฟฟ้าตามภาพถ่ายภาพที่ 1 ตรงกับจุดในวงกลมด้วยหมึกสีน้ำเงินในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวแล้วปรากฏว่า เสาไฟฟ้าอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10 เมตร เชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอให้ผู้เสียหายมองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมองเห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้ และตามพฤติการณ์ในคดีเห็นได้ว่าผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 1 ตั้งแต่จำเลยที่ 1 เดินมากับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้เสียหายจนล้มลงกับพื้น จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ใช้เท้าเตะผู้เสียหายบริเวณกรามซ้ายพร้อมกับใช้เท้ากระทืบซ้ำที่ลำคอและกรามซ้าย ผู้เสียหายจึงอยู่ในระยะที่ใกล้กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีสิ่งใดปิดบังใบหน้า ผู้เสียหายย่อมมองเห็นจำเลยที่ 1 ได้โดยถนัด ประกอบกับผู้เสียหายรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุคคลแปลกหน้าสำหรับผู้เสียหายที่ทำให้ยากแก่การจดจำ อีกทั้งพยานโจทก์ก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน โดยเฉพาะพันตำรวจโทซายังเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับโทษ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่นั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้างแล้ว ในชั้นสอบสวนแม้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ แต่หากจำเลยที่ 1 มีข้อต่อสู้ในเรื่องฐานที่อยู่ซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้ว และยังเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็น่าจะให้การต่อพนักงานสอบสวนเพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนเสียตั้งแต่โอกาสแรกที่จะกระทำได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ จึงเป็นพิรุธส่อแสดงว่าเป็นข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นกล่าวอ้างในภายหลัง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยที่ 1 เดินทางมายังที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้เสียหายจนล้มลงแล้ว จำเลยที่ 1 ก็เตะและกระทืบผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไปด้วยกันกับจำเลยที่ 2 พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี และเนื่องจากจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ยกขึ้นวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏใน คำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (วันที่ 30 มีนาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1