แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บุคคลใดจะมีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามคำนิยามของคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน บุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายก็อาจเป็นลูกจ้างได้
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองสำนวน จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์สำนวนแรกและนายชื่น ตรีครุธพันธ์ เป็นพนักงานมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าโจทก์กับพวกเป็นลูกจ้าง โจทก์กับพวกจึงมิใช่ลูกจ้างจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์กับพวกนั้น เห็นว่า บุคคลใดจะมีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่นั้นย่อมเป็นไปตามคำนิยามของคำว่า “ลูกจ้าง” ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ไม่ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าผู้นั้นเป็นลูกจ้าง การที่บุคคลใดจะถูกเรียกว่าพนักงานหรือไม่หรือมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นมีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ ดังนั้นแม้โจทก์กับพวกจะเป็นพนักงานมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าโจทก์เป็นลูกจ้าง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์กับพวกนั้นไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย”
พิพากษายืน