คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7493/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ.2537มาตรา32(5)คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดว่าเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ให้จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่แต่จะมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินทดแทนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายจ้างหาได้ไม่เพราะการมีคำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการขัดต่อมาตรา54

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสิบห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามสิบห้าเป็นลูกจ้างของบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ทำงานในแผนกปั่นด้ายและทอผ้า โจทก์แต่ละคนมีอายุการทำงานเฉลี่ยคนละ10 ปี ขึ้นไปจนถึง 30 ปี สืบเนื่องจากการทำงานในหน้าที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามสิบห้ามีอาการป่วยเจ็บด้วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบห้าได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเงินทดแทนเพื่อขอรับค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนก็ได้วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามสิบห้าป่วยเป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง โรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2518ข้อ 14 โจทก์ทั้งสามสิบห้ามีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวจากบริษัทข้างต้นซึ่งเป็นนายจ้าง แต่บริษัทดังกล่าวได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการปรากฎว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2538 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ว่าให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนไว้จนกว่าจะได้หลักฐานทางการแพทย์ที่โจทก์ทั้งสามสิบห้าได้ปฎิเสธไม่ยอมส่งให้ประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมติดังกล่าวขัดต่อกฎหมายโดยเป็นการทุเลาการบังคับการปฎิบัติตามคำสั่งหรือวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะการที่บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้างยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับการปฎิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 54อีกทั้งหากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าการที่โจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่ยอมส่งพยานหลักฐานให้ประกอบการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นเหตุให้พยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามสิบห้าป่วยด้วยโรคดังกล่าวข้างต้น ก็ชอบที่จะยกคำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนเสียเพื่อโจทก์ทั้งสามสิบห้าจะได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานต่อไป ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนครั้งที่ 2/2538 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 และให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การว่า มติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนไว้จนกว่าจะได้หลักฐานทางการแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537มาตรา 52 มิใช่เป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งสามสิบห้าและจำเลยทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ก่อนหน้าที่บริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัดนายจ้างของโจทก์ทั้งสามสิบห้าจะได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนนั้น โจทก์ทั้งสามสิบห้าได้รับเงินทดแทนมาคนละประมาณ5 งวด จนเมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนขอหลักฐานทางการแพทย์ที่วินิจฉัยอาการป่วยของโจทก์ทั้งสามสิบห้าจากโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์แต่โจทก์ทั้งสามสิบห้าแจ้งว่าไม่ขอส่งประวัติการรักษาและหลักฐานทางการแพทย์ดังกล่าวให้ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงได้มีมติครั้งที่ 2/2538 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบห้า
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หากโจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่ยอมให้ส่งประวัติการรักษาและหลักฐานทางการแพทย์ให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ก็ชอบที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานที่มีอยู่หรือแสวงหาพยานหลักฐานได้เอง ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้โจทก์ทั้งสามสิบห้ากระทำการใด ๆที่โจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่ยินยอมได้การที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบห้าไว้จนกว่าจะได้หลักฐานทางการแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปมีผลเป็นการบังคับให้โจทก์ทั้งสามสิบห้าส่งหลักฐานให้ อีกทั้งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็มีหน้าที่เพียงวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทดังกล่าวไปตามพยานหลักฐานเท่านั้น ไม่ชอบที่จะมีมติให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยแต่อย่างใด อีกทั้งมติดังกล่าวยังเป็นผลให้เป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ. 2537 มาตรา 54 ไม่ว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะได้หลักฐานทางการแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีอำนาจที่จะให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบห้าได้ มติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขาธิการและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีหน้าที่ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 จึงต้องถือปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่อไปจนกว่าผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น พิพากษาให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนครั้งที่ 2/2538 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 เสียและให้จำเลยทั้งสามปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบห้าต่อไป
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า อำนาจของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ. 2537 มาตรา 32(5) นอกจากมีอำนาจวินิจฉัยที่จะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่ให้จ่ายเงินทดแทน หรืออาจวินิจฉัยไม่เห็นด้วยกับสำนักงานกองทุนเงินทดแทนโดยเห็นว่าโจทก์ทั้งสามสิบห้ามิได้เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่บริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด และสั่งไม่จ่ายเงินทดแทนให้แล้ว การออกคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนไว้ก่อนระหว่างรอรวบรวมหลักฐานเพื่อการวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมจะทำได้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 32(5) หาใช่เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ทั้งไม่เป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือของคณะกรรมการตามมาตรา 54 และไม่เป็นผลให้เป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 54 แต่อย่างใด ทั้งมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งที่ 2/2538ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นเพียงขั้นตอนการปฎิบัติหน้าที่และรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก่อนที่จะพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพจำกัด ต่อไปโดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฎิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมอบหมายตามพระราชบัญญัติทดแทนพ.ศ. 2537 มาตรา 41 คณะอนุกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องส่งเอกสาร สิ่งของ หรือข้อมูลที่จำเป็นมาพิจารณาได้ ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 42 เมื่อคณะอนุกรรมการขอหลักฐานทางการแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสามสิบห้าได้มีหนังสือแจ้งว่าไม่ขอส่งประวัติการรักษาฟิล์มเอกซเรย์ ฯลฯคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงมีมติให้ระงับการจ่ายเงินทดแทนจนกว่าจะได้หลักฐานทางการแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปมิใช่เป็นการบังคับให้โจทก์ทั้งสามสิบห้าส่งหลักฐานให้แก่ประการใดซึ่งเมื่อได้หลักฐานครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงจะชี้ขาดวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัดตามข้อกฎหมายต่อไป คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงมีอำนาจที่จะระงับการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ได้ มติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 32(5)ที่ระบุว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 52 นั้น ย่อมหมายความว่ามีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดว่าเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ให้จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบห้าหรือไม่ แต่จะมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินทดแทนเป็นการชั่วคราวหาได้ไม่ เพราะการมีคำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการขัดต่อมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่บัญญัติเป็นใจความว่า การอุทธรณ์หรือนำคดีไปสู่ศาลไม่เป็นการทุเลาการปฎิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ส่วนข้อที่ว่าคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัดนั้น เห็นว่า แม้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะมีอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานโดยจะเป็นผู้รวบรวมเองหรือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยรวบรวมก็เป็นการกระทำเพื่อนำมาพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทดังกล่าวนั่นเอง และเมื่อยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าเห็นด้วยกับอุทธรณ์และสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนที่ให้จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามสิบห้า ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนยังต้องวินิจฉัยต่อไปแต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าถือว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีอำนาจที่จะมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินทดแทนเป็นการชั่วคราวแล้วก็จะมีผลเป็นการเปิดช่องให้มีการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติของมาตรา 54 ได้ย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share