คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7487/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จ.ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงแก่ความตายเป็นเวลาเกินกว่า10ปีแล้วจ. จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382ซึ่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ตามมาตรา1599และ1600จึงตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของจ. แม้โจทก์มิได้ครอบครองต่อเนื่องในที่ดินที่จ. ได้กรรมสิทธิ์โจทก์ก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จ.ครอบครองมาโดยทางมรดก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1341เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 40 ตารางวา มีชื่อนายใจและนางเหลี่ยมถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว นายใจและนางเหลี่ยมแบ่งที่ดินดังกล่าวให้นางสำริดทำกินตอนกลาง และนายสอน คงเจริญทำกินตอนใต้ เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน เมื่อประมาณ 40 ปี มาแล้วนายสอนถึงแก่ความตาย นายเจริญ คงเจริญ บุตรของนายสอนรับประโยชน์และครอบครองที่ดินส่วนของนายสอนต่อมาโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนายเจริญได้ครอบครองที่ดินร่วมกับนายเจริญโดยลงทุนปรับปรุงทำเป็นสวนผลไม้และขุดบ่อ 3 แห่งขุดคูกั้นเขตทางด้านทิศเหนือที่ติดกับส่วนของนายใจและนางเหลี่ยมเป็นที่ดินที่มีอาณาเขตแน่นอนทั้งปลูกต้นไม้ ต้นมะพร้าว ต้นสะเดาต้นสะแก และพืชอื่น ๆ ไว้ โดยมิได้มีผู้ใดโต้แย้ง โดยทิศเหนือยาวประมาณ 3 เส้น 15 วา ทิศใต้ติดที่ดินของนางเกลี่ยและนางตะลุ่มยาวประมาณ 3 เส้น 12 วา ทิศตะวันออกติดที่ดินเลขที่ 75 ยาวประมาณ1 เส้น ทิศตะวันตกติดคลองลำหวานลิงยาวประมาณ 18 วา เมื่อประมาณ27 ปี มาแล้ว นางใจและนางเหลี่ยมถึงแก่ความตาย ต่อมาปี 2508 ทายาทของนายใจและนางเหลี่ยม มีจำเลยที่ 1นางสงวน คงประเสริญ นายเบี้ยว ใจภักดี และนายบุญยิ่ง คำสวัสดิ์ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 4 ไปยื่นคำขอรับมรดกโฉนดที่ดินเลขที่ 1341 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราแต่นายเจริญและนางจำรัส พัฒนาภรณ์บุตรของนางสำริด ยื่นคำคัดค้านว่า นายเจริญและนางจำรัสต่างครอบครองที่ดินมรดกของนายใจและนางเหลี่ยมบางส่วน ขอลงชื่อในโฉนดที่ดินด้วยเจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบแล้วตกลงกันได้ว่าให้ผู้ขอรับมรดกลงชื่อรับมรดกที่ดินของนายใจและนางเหลี่ยมไปฝ่ายเดียวก่อนและให้ไปยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินให้แก่นายเจริญและนางจำรัสตามเขตที่ครอบครองอยู่ภายหลัง แต่จำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวไม่ยอมแบ่งแยกที่ดินให้แก่นายเจริญและนางจำรัสตามตกลง บางคนนำที่ดินเฉพาะส่วนของตนไปขายฝากไว้กับผู้อื่นบ้าง ยกให้กันเองบ้าง ขายให้แก่กันบ้าง ปัจจุบันโฉนดที่ดินเลขที่ 1341 มีชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และนายบุญยิ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อประมาณ 4 ปี มาแล้วนายบุญยิ่งถึงแก่ความตาย ที่ดินเฉพาะส่วนของนายบุญยิ่งจึงเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาท จำเลยทั้งสี่เป็นญาติกัน ต่างทราบเรื่องที่นายเจริญและโจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2533 นายเจริญถึงแก่ความตาย ที่ดินส่วนที่นายเจริญครอบครองจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองครอบครองต่อมาโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ก่อนปี 2508 จนปัจจุบันนี้เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2534 โจทก์ที่ 1 นำเสาปูนไปปักตามแนวเขตที่ดินทางด้านทิศเหนือ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ห้ามปรามและรื้อถอนเสาปูนเป็นการกระทำละเมิดและรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสองขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่1341 ตำบลบางวัว อำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทราเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน ตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้จำเลยทั้งสี่ยอมให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดดังกล่าวตามส่วนแล้วแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ โดยให้โจทก์ทั้งสองไปดำเนินการฝ่ายเดียว ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 1 และนายบุญยิ่งรับมรดกมาจากนายใจและนางเหลี่ยม ต่อมานายบุญยิ่งถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4ซึ่งเป็นภรรยาของนายบุญยิ่งจึงเข้ารับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนายบุญยิ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินติดต่อกันมายังไม่เกินกว่า 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามฟ้อง เดิมนายใจและนางเหลี่ยมพร้อมกับบุตรร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ปลูกพืชและขุดบ่อปลาไว้ทั้งหมดต่อมานางสำริดและนางสอนขอที่ดินปลูกบ้านอยู่อาศัยเป็นเนื้อที่คนละประมาณ60 ตารางวา โดยไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินส่วนอื่นเลย เมื่อนางสำริดและนายเจริญถึงแก่ความตายแล้ว นางจำรัสบุตรของนางสำริดและนายเจริญบุตรของนายสอนต่างก็อาศัยอยู่ในบ้านของนางสำริดและนายสอนต่อมาเท่านั้น โจทก์ทั้งสองแยกไปอยู่ที่อื่นก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เมื่อนางจำรัสและนายเจริญไปคัดค้านการที่จำเลยที่ 1 กับพวกไปยื่นคำขอรับมรดกที่ดิน นางจำรัสและนายเจริญไม่ติดใจจะขอแบ่งแยก ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิที่จะแบ่งแยกที่ดินแล้วเมื่อนายเจริญถึงแก่ความตาย นางเย็น แก้วทองบุตรของนายเจริญเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านแทนนายเจริญแต่ผู้เดียวจนบัดนี้ โจทก์ทั้งสองมิได้เข้าครอบครองที่ดินตามที่กล่าวอ้างขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะส่วนอันเป็นบริเวณที่ตั้งบ้านของโจทก์ที่ 1 และอาณาเขตบริเวณโดยรอบบ้านเป็นเนื้อที่รวมกันประมาณ 60 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.9 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 60ตารางวาตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.9 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1341 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเดิมมีนายใจและนางเหลี่ยมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมานายใจและนางเหลี่ยมถึงแก่ความตายในปี 2509 จำเลยที่ 1นางสงวน นายบุญยิ่ง และนายเบี้ยวทายาทของนายใจและนางเหลี่ยมรับโอนทางมรดก ปี 2513 นางสงวนขายฝากที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายเล่งบ๊วย แซ่ฉั่ว และนายเล่งบ๊วย ขายฝากเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2เมื่อปี 2527 กับในปี 2530 นายเบี้ยวขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมานายบุญยิ่งถึงแก่ความตาย ส่วนของนายบุญยิ่งจึงเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นภรรยาขณะนี้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1341 มีชื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายบุญยิ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเอกสารหมาย จ.2 นายสอนบิดานายเจริญปลูกบ้านเลขที่ 7 อยู่อาศัยทางทิศใต้ภายในที่ดินพิพาทตั้งแต่นายใจและนางเหลี่ยมมีชีวิตอยู่ เมื่อนายสอนถึงแก่ความตาย นายเจริญบุตรนายสอนซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสองได้อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 7 พร้อมกับโจทก์ทั้งสอง ต่อมาโจทก์ที่ 1แยกปลูกบ้านเลขที่ 8 อยู่อาศัยใกล้ ๆ กัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่สี่ว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าที่ดินพิพาทแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นบริเวณบ้านที่โจทก์ที่ 1 ปลูกสร้างไว้ส่วนที่ 2 เป็นบริเวณบ้านเลขที่ 7ซึ่งนายเจริญอยู่อาศัยนั้น โจทก์ที่ 2 มิได้นำสืบว่า ได้ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ปลูกบ้านหรือได้ร่วมครอบครองบ้านอย่างเป็นเจ้าของกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ 1ร่วมกับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบว่า เป็นผู้ครอบครองที่ดินที่ตั้งบ้านเลขที่ 7 โจทก์ทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ 2 สำหรับส่วนที่ 3 เป็นที่ดินพิพาทส่วนที่นอกเหนือจากบริเวณที่ปลูกบ้านโจทก์ทั้งสองและนายเจริญไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 10 ปี โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ 3 นี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองได้รับมรดกตกทอดจากนายเจริญจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่นายเจริญครอบครองเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เป็นการไม่ถูกต้องเห็นว่า นายเจริญบิดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายเมื่อปี 2533โดยก่อนหน้านั้นนายเจริญได้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทต่อจากนายสอนบิดาตลอดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ซึ่งขณะเบิกความอายุ42 ปี เบิกความว่า เห็นนายเจริญปลูกบ้านมาตั้งแต่เด็กจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะเบิกความอายุ 72 ปี เบิกความว่าเกิดมาเห็นนายสอนปลูกบ้านอยู่แล้ว ดังนั้นนายเจริญจึงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 นางสงวนนายบุญยิ่งและนายเบี้ยว ต่างเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายใจและนางเหลี่ยมผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1341ต่างให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย จ.3 เมื่อคนทั้งสี่ไปขอรับมรดกที่ดินโฉนดดังกล่าวและนายเจริญกับนางจำรัสต่างคัดค้านได้ให้ถ้อยคำว่าในส่วนที่ผู้โต้แย้งคัดค้านมรดกรายนี้โดยอาศัยสิทธิที่ได้ปกครองมานานนั้น ฝ่ายผู้ขอไม่ได้โต้แย้งและยอมรับว่าผู้คัดค้านคือนายเจริญและนางจำรัส พัฒนาภรณ์ได้ครอบครองที่ดินมรดกรายนี้มาจริงตามที่ผู้คัดค้านยืนยันและอ้างอิง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ผู้ขอโอนมรดกลงชื่อเป็นผู้รับมรดกไปฝ่ายเดียวเสร็จแล้วให้ผู้ขอยื่นคำขอแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนตามเขตที่ผู้คัดค้านได้ครอบครองอยู่ให้แก่ผู้คัดค้านต่อไปซึ่งในเอกสารดังกล่าวนี้บันทึกต่อมาว่า ประเด็นของเรื่องมรดกรายนี้ผู้คัดค้านอ้างว่าได้ปกครองมานานเกิน 10 ปี และฝ่ายผู้ขอยอมรับในประเด็นตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมให้ผู้ขอรับมรดกไปฝ่ายเดียวเสร็จแล้วยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนตามเขตที่ผู้คัดค้านครอบครองให้แก่ผู้ครอบครองต่อไป ซึ่งเอกสารหมาย จ.3 นี้เป็นเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นตามหน้าที่อันเป็นเอกสารราชการจึงรับฟังได้ฟังได้ว่านายเจริญได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2509 ตลอดมาจนนายเจริญถึงแก่ความตายในปี 2533 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนายเจริญจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599และ 1600 จึงตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนายเจริญ แม้โจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองต่อเนื่องในที่ดินส่วนที่นายเจริญได้กรรมสิทธิ์โจทก์ทั้งสองก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่นายเจริญครอบครองมาโดยทางมรดก”
พิพากษายืน

Share