คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7461/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 120 และ 121 เป็นโฉนดที่ดินที่ออกให้ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี ร.ศ.125 โดยระบุอาณาเขตของที่ดินทั้งสองแปลงว่าด้านทิศใต้จดลำกระโดงและตามรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินก็ปรากฏว่าด้านทิศใต้ของที่ดินเป็นลำกระโดง แสดงให้เห็นว่าลำกระโดงมีมาไม่น้อยกว่า 100 ปีแล้ว โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นลำกระโดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือมีผู้ใดขุดให้เป็นลำกระโดงและขุดตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งโจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่าในสมัยก่อนเจ้าของที่ดินที่ลำกระโดงผ่านจะใช้ลำกระโดงเป็นทางออกเพื่อขนผลิตผลทางการเกษตรออกไปสู่คลองชักพระและได้ความจาก ฉ. พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า ลำกระโดงมีระยะทางเริ่มต้นจากคลองชักพระไปจนถึงสวนของพยานซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ผู้อยู่อาศัยทั้งสองฝั่งของลำกระโดงจะแบ่งกันใช้น้ำและใช้ประโยชน์ในลำกระโดงร่วมกันจึงสอดคล้องกับคำเบิกความของ ว. และ บ. พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งขณะเบิกความต่างมีอายุ 69 ปี และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำกระโดงที่พิพาทมาเป็นเวลานาน โดยพยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่า ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเป็นต้นมาชาวบ้านบริเวณดังกล่าวใช้ลำกระโดงพิพาทเป็นทางสัญจรและใช้ขนผลิตผลทางการเกษตรโดยทางเรือออกสู่ภายนอก พยานเห็นว่าลำกระโดงพิพาทมีมาตั้งแต่เกิดและได้ใช้ลำกระโดงดังกล่าวเป็นทางสัญจรเช่นเดียวกับชาวบ้านในละแวกนั้นโดยไม่เคยมีบุคคลใดหวงห้าม เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายแล้วเห็นได้ว่าลำกระโดงสายนี้ยังมีสภาพที่ประชาชนสามารถใช้เรือสัญจรไปมาออกสู่คลอกชักพระได้โดยสะดวก จากพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่าประชาชนในละแวกนั้นได้ใช้ลำกระโดงสายนี้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว หากจะฟังว่าลำกระโดงสายนี้เกิดจากการขุดสร้างขึ้นเองของชาวบ้านทั้งสองฝั่งในที่ดินของตนเพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำและการสัญจรไปมาก็ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินแต่เดิมได้ยกที่ดินส่วนที่เป็นลำกระโดงพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1304 แล้วโดยปริยาย หากจำต้องการแสดงเจตนาอุทิศให้หรือจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ เมื่อฟังว่าลำกระโดงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 จากเจ้าของเดิม แม้ลำกระโดงพิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้กลับเข้าหวงกันหรือประชาชนใช้ประโยชน์จากลำกระโดงพิพาทน้อยลงจากเดิม ก็ไม่ทำให้ลำกระโดงพิพาทหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวอีก โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยึดถือเอาลำกระโดงพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนสะพานทางเดินคอนกรีตขนาดความกว้าง 1 เมตร และฐานรากของสะพานทางเดินดังกล่าวออกไปจากเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 เลขที่ดิน 45 และ 44 ตำบลบางขุนนนท์ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยทั้งสามดำเนินการปรับปรุงสภาพที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองให้ดีดังเดิมด้วยทุนทรัพย์ของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทำด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสามและห้ามมิให้จำเลยทั้งสามเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ เหนือที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 ตำบลบางขุนนนท์ อำเภอบางกอกน้อย กรงุเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ติดต่อกันแต่หลังจากฟ้องคดีแล้วได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 120 ไปเป็นของผู้อื่น ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 และ จ.2 ตามลำดับ ด้านทิศใต้ของที่ดินทั้งสองแปลงมีความยาวรวมกันประมาณ 50 เมตร มีลำกระโดงพิพาทกว้างประมาณ 3 เมตร ด้านหนึ่งของลำกระโดงยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับคลองชักพระ ส่วนอีกด้านหนึ่งยาวต่อเนื่องไปทางซอยอำนวยผล ซอย 7 ความยาวของลำกระโดงจากคลองชักพระไปถึงด้านในสุดยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 โดยผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อยและโดยจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ทำการก่อสร้างสะพานทางเดินคอนกรีตขนาดกว้าง 1 เมตร ต่อจากบริเวณที่ก่อสร้างค้างไว้ไปถึงคลองชักพระตามสัญญาเลขที่ 22/2540 การก่อสร้างสะพานทางเดินคอนกรีตดังกล่าวจำเลยที่ 3 ลงเสาและก่อสร้างอยู่ในลำกระโดงพิพาทเลียบไปตามแนวลำกระโดงผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 ของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้ทักท้วงหวงห้ามแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่… เห็นว่าตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 120 และ 121 ปรากฏว่าเป็นโฉนดที่ดินที่ออกให้ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี ร.ศ.125 โดยระบุอาณาเขตของที่ดินทั้งสองแปลงว่าด้านทิศใต้จดลำกระโดงตามรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินก็ปรากฏว่าด้านทิศใต้ของที่ดินเป็นลำกระโดงแสดงให้เห็นว่าลำกระโดงนี้มีมาไม่น้อยกว่า 100 ปีแล้ว โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นลำกระโดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือมีผู้ใดขุดให้เป็นลำกระโดงและขุดตั้งแต่เมื่อใด แต่โจทก์ที่ 1 เบิกความรับว่าในสมัยก่อนเจ้าของที่ดินที่ลำกระโดงผ่านจะใช้ลำกระโดงเป็นทางออกเพื่อขนผลิตผลทางการเกษตรออกไปสู่คลองชักพระ และได้ความจากนายฉลอง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า ลำกระโดงมีระยะทางเริ่มต้นจากคลองชักพระไปจนถึงสวนของพยานซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ผู้อยู่อาศัยทั้งสองฝั่งของลำกระโดงจะแบ่งกันใช้น้ำและใช้ประโยชน์ในลำกระโดงร่วมกันซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนาวาเอกวิจิตร และนายบุญส่ง พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งขณะเบิกความต่างมีอายุ 69 ปี และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำกระโดงที่พิพาทมาเป็นเวลานาน โดยพยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่า ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเป็นต้นมาชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวใช้ลำกระโดงพิพาทเป็นทางสัญจรและใช้ขนส่งผลิตผลทางการเกษตรโดยทางเรือออกสู่ภายนอก พยานเห็นลำกระโดงพิพาทมีมาตั้งแต่เกิดและได้ใช้ลำกระโดงดังกล่าวเป็นทางสัญจรเช่นดียวกับชาวบ้านในละแวกนั้นโดยไม่เคยมีบุคคลใดหวงห้าม เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายหมาย จ.6 ล.1 และ ล.2 แล้ว เห็นได้ว่าลำกระโดงสายนี้ยังมีสภาพที่ประชาชนสามารถใช้เรือสัญจรไปมาออกสู่คลองชักพระได้โดยสะดวกจากพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่าประชาชนในละแวกนั้นได้ใช้ลำกระโดงสายนี้เป็นเส้นทางในการสัญจรไปมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว หากจะฟังว่าลำกระโดงสายนี้เกิดขึ้นจากการขุดสร้างขึ้นเองของชาวบ้านทั้งสองฝั่งในที่ดินของตนเพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำและการสัญจรไปมาก็ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินแต่เดิมได้ยกที่ดินส่วนที่เป็นลำกระโดงพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 แล้วโดยปริยาย หาจำต้องมีการแสดงเจตนาอุทิศให้หรือจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ เมื่อฟังว่าลำกระโดงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 จากเจ้าของเดิม แม้ลำกระโดงพิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองได้กลับเข้าหวงกันหรือประชาชนใช้ประโยชน์จากลำกระโดงพิพาทน้อยลงจากเดิมก็ไม่ทำให้ลำกระโดงพิพาทหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวอีก โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยึดถือเอา ลำกระโดงพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

Share