คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7455/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีโจทก์ขาดอายุความวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนดอายุความแล้วก็ตาม แต่โจทก์จะต้องได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาลภายในวันสุดท้ายของกำหนดอายุความคือ ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ด้วย การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้าซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย และจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย จึงมิใช่เป็นการได้ตัวจำเลยมาศาล
จำเลยที่ 1 มาศาลโดยการนำมาของทนายโจทก์ มิใช่มาศาลเพราะทราบว่าถูกฟ้องและมาตามหมายเรียกโดยมีเจตนาที่จะมาให้การรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาล และการที่ศาลออกหมายจับจำเลยที่ 2 ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 2 มาศาลแล้วเช่นกันเพราะมิฉะนั้นจะมีผลทำให้อายุความในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ขยายออกไปยาวนานกว่าคดีที่ราษฎรร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 90, 91, 137, 157, 161, 162, 264, 265, 266, 267, 268, 334, 335 และ 357
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) และ 268 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) และ 268 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ดังนี้ ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดเวลาสิบห้าปี นับแต่วันกระทำความผิด ย่อมเป็นอันขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2534 วันสุดท้ายของกำหนดอายุความที่โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มายังศาล คือ วันที่ 6 ธันวาคม 2549 แม้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายในกำหนดอายุความแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องได้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มายังศาลภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มาศาล คงแต่งตั้งทนายความมาซักค้านพยานโจทก์ ภายหลังศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) และ 268 โดยศาลชั้นต้นนัดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 จำเลยทั้งสองรับหมายเรียกแล้ว ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์กับนายอโนทัย มาศาล และนายอโนทัยแถลงว่า ตนเองเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 และให้เลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 6 ธันวาคม 2549 เมื่อถึงวันนัด ทนายโจทก์กับนางสาวพงศ์ศิริ มาศาล ทนายโจทก์แถลงว่า นางสาวพงศ์ศิริเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และขอเลื่อนคดีเป็นตอนบ่ายโดยจะติดตามกรรมการของจำเลยที่ 1 มาให้ครบจำนวนเพื่อให้ศาลสอบคำให้การ ในช่วงบ่ายทนายโจทก์แถลงว่า ไม่ทราบว่านางสาวพงศ์ศิริไปไหน ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนคดีเป็นวันที่ 22 มกราคม 2550 แล้วออกหมายเรียกกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งมี 7 คน มาศาล ครั้นถึงวันนัด กรรมการของจำเลยที่ 1 จำนวน 5 คน ได้แก่ นายธำรงค์ นายสุกิจ นายกิจจา นายอโนทัยและนางสาวพงศ์ศิริมาศาล ส่วนจำเลยที่ 2 ยังคงไม่มาศาล จำเลยที่ 1 โดยนายธำรงค์และนายกิจจาลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทยื่นคำให้การต่อสู้ปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิดและคดีโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำผ่านทางผู้แทน อันได้แก่ กรรมการสองคนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 กรรมการคนใดคนหนึ่งไม่อาจกระทำไปเพียงลำพังได้ ดังนั้น แม้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 มีนายอโนทัยมาศาล และในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 มีนางสาวพงศ์ศิริมาศาล ก็มีลักษณะเป็นเพียงการมาปรากฏตัวให้ศาลเห็นโดยการนำมาของทนายโจทก์ มิใช่เป็นการมาศาลเพราะทราบว่าถูกฟ้องและตามหมายเรียก โดยมีเจตนาที่จะมาให้การรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 1 ผู้กระทำความผิดมายังศาล ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 กรณีจึงต้องถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 มายังศาลในวันที่ 22 มกราคม 2550 พ้นกำหนดเวลาสิบห้าปีนับแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2543 ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว สำหรับจำเลยที่ 2 ยังคงไม่ได้ตัวมายังศาล ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เข้ามาในคดีด้วยการแต่งตั้งทนายความเข้ามาซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นเพียงการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165 วรรคท้าย และยังมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย จึงมิใช่เป็นการได้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มายังศาล กับกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 ไว้นั้น จะให้ถือว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 2 มายังศาลแล้วย่อมไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่าในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์เพียงแต่ศาลออกหมายจับจำเลย โดยยังมิได้ตัวมายังศาลแล้วมีผลทำให้อายุความหยุดนับทันที ย่อมจะทำให้กำหนดอายุความขยายออกไปยาวนานกว่าคดีอาญาที่ผู้เสียหายไปแจ้งความหรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แต่พนักงานอัยการมิได้ฟ้องและได้ตัวมายังศาลภายในกำหนดอายุความ ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดไว้ เช่นนี้ย่อมจะมิใช่เป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพราะบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าวย่อมต้องถือหลักอย่างเดียวกันทั้งในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์หรือในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ จึงฟังได้ว่าคดีโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (1) และ 268 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความฟ้องร้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) แล้วเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าคดียังไม่ขาดอายุความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share