คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7442/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก่ทนายความของจำเลยที่ 2 แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ทราบว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมคำพิพากษาคืนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งเกี่ยวกับความมรณะของจำเลยที่ 2 แล้ว มีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 จึงล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งให้ถูกต้องก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามกับบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง และให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และชื่อนายคำนึง สกุลสุวรรณ บิดาของจำเลยที่ ๓ ออกจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของแทน หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ นำที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีเอกสารประกอบที่ดินเป็นทะเบียนที่ดินนิคม ลำนารายณ์ไปวางเป็นประกันเงินกู้ไว้กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาลพบุรี ที่โจทก์เป็นสมุห์บัญชีในขณะนั้น โดยจำเลยที่ ๑ ชำระเงินกู้ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วแต่มิได้ขอเอกสารคืน จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินให้นายคำนึง สกุลสุวรรณ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ นายคำนึงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาและเมื่อนายคำนึงถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำนึงจึงมีสิทธิคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาท นายคำนึง สกุลสุวรรณ บิดาจำเลยที่ ๓ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ จนถึงแก่กรรม หลังจากนายคำนึงถึงแก่กรรมทายาทได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัว เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายคำนึงที่ยังมิได้แบ่งแยก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ทะเบียนเลขที่ ๓ เล่มที่ ๑ ก. หน้า ๓ เลขที่ดิน ๔๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลนิคมลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ ๔๕ ไร่ ของจำเลยที่ ๒ ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายสวัสดิ์ พวงจำปี จำเลยที่ ๑ เข้าเป็นคู่ความแทน จำเลยที่ ๒ ผู้ตาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้คู่ความฟังแล้ว ทนายจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๒ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรขอเข้ารับมรดกความของจำเลยที่ ๒ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวน แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๒ ผู้ตายพร้อมทั้งมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ขยายระยะเวลายื่นฎีกาไปอีก ๒๐ วัน นับแต่วันมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เข้าเป็นคู่ความแทน จำเลยที่ ๒ จึงยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาในเวลาต่อมา ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนามรณบัตรแนบท้ายคำร้องขอเข้ารับมรดกความว่า จำเลยที่ ๒ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ อันเป็นเวลาอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ และปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ว่าเจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ แก่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถึงแก่กรรมไปแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแจ้งนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ แก่ทนายความของ จำเลยที่ ๒ แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ทราบว่าจำเลยที่ ๒ ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ กรณีจึงย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะหรือ บุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ โดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามาเนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติต่อไปว่า “ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ” ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นทราบแล้วว่าจำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เช่นนี้ศาลชั้นต้นจึงต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ แล้วส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมคำพิพากษาคืนไปยัง ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เพื่อพิจารณาสั่งเกี่ยวกับความมรณะของจำเลยที่ ๒ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๒ รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ ๒ และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ จึงล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งให้ถูกต้องก่อน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสามอีกต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ กับยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นายสวัสดิ์ พวงจำปี จำเลยที่ ๑ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ ๒ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ มีคำสั่งเกี่ยวกับความมรณะของจำเลยที่ ๒ และมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสาม คืนค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสาม ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share