แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 285, 310
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 และมาตรา 65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 1 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน (ที่ถูก ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำคุก 1 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดานอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้จำเลยไปรับการบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตจากแพทย์ที่โรงพยาบาล ส. หรือคลินิกอายุรกรรมโรงพยาบาล ช. โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในเวลาที่รอการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, มาตรา 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285, 310 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำคุก 10 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 5 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 16 ปี ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่คุมประพฤติ และไม่ปรับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง อ. ผู้เสียหาย เป็นบุตรของจำเลย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 7 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่บ้านเกิดเหตุ และที่บ้านของนาง ษ. ซึ่งเป็นย่าของผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้กระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและเป็นผู้สืบสันดาน และกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและเป็นผู้สืบสันดาน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำเลยมิได้ฎีกา ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายออกจากบ้าน ผู้เสียหายมิได้ถูกล่ามหรือพันธนาการใด ๆ หรือถูกทำร้ายร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ มิใช่เพียงแต่ห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายออกจากบ้านดังที่จำเลยฎีกา การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานกระทำชำเรา ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 3 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “(18) “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น” มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสี่บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” จากบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า และโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะที่จำเลยกระทำความผิด และโทษตามมาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ก็มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต จึงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม แต่การปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยโดยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจาร ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติเพิ่มเติมความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีแยกต่างหากจากความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่บัญญัติเฉพาะความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไว้เพียงบทเดียว และโทษในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามกฎหมายใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแตกต่างจากโทษในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามกฎหมายเดิมที่ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามกฎหมายใหม่ได้บัญญัติไว้ในวรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง และมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น โทษจำคุกและโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงสูงกว่าโทษจำคุกและโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย และมาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 285 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน โดยบัญญัติหลักเกณฑ์ที่ต้องรับโทษหนักขึ้นเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่บัญญัติไว้เฉพาะกรณีที่เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล โดยให้รวมถึงกรณีที่เป็นการกระทำแก่บุพการี พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ญาติสืบสายโลหิต หรือผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใดไว้ด้วย แต่ยังคงระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยเช่นกัน ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 โดยไม่ได้ระบุวรรค ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 (เดิม), 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 285 (เดิม), 310 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8