แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยก่อสร้างรั้วริมซอย อันเป็นทางสาธารณะที่มีความกว้าง ไม่ถึง 6 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่ร่นแนวรั้วให้ห่างจาก ศูนย์กลางซอย อย่างน้อย 3 เมตร จึงเป็นการ ฝ่าฝืนข้อบังคับกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารฯ ข้อ 72 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 21และเป็นการฝ่าฝืนที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 42 จำเลยจึงต้องรื้อถอนรั้วดังกล่าว ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมิใช่ความผิดฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. หากแต่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครอง ประโยชน์และ ความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคาร (รั้ว) พิพาท ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40, 41, 42 โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างก่อนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ คดีขาดอายุความ รั้งพิพาทเป็นรั้วคนละด้านกับรั้วที่เขตภาษีเจริญมีคำสั่งให้จำเลยระงับการต่อเติมและดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วพิพาทออกไป ถ้าจำเลยไม่รื้อให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยฎีกาในประการแรกว่า จำเลยมิได้ก่อสร้างอาคาร (รั้ว) พิพาทผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร นั้น โจทก์มีนายชุมพล เวชชพิทักษ์ นายตรวจอาคาร 3 ประจำเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นายวิโรจน์ ผดุงวิทย์และนายสายัญ ผดุงวิทย์เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ซอยแสงหิรัญเดิมเป็นลำกระโดงสาธารณะ ในปี 2522 ลำกระโดงสาธารณะดังกล่าวได้กลายสภาพเป็นทางสาธารณะเพราะตื้นเขิน และชาวบ้านได้ขนทรายมาถมเป็นทางเดิมขณะเอาทรายถมเป็นทางเดิน นายสายัญพยานโจทก์ได้ให้ถ่ายภาพโดยประทับวันที่ไว้ด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.16 และ จ.17 ในวันที่ 3มิถุนายน 2525 นายชุมพล พยานโจทก์ได้ตรวจพบว่า คนงานกำลังเทรั้วคานคอนกรีตบล็อกเสริมเหล็กในที่ดินของจำเลยด้านติดซอยแสงหิรัญโดยไม่รุ่นแนวรั้วให้ห่างจากศูนย์กลางของซอยแสงหิรัญอย่างน้อย 3 เมตรอันเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นายชุมพลจึงแจ้งให้จำเลยทราบว่า การสร้างรั้วดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายให้รื้อถอน แล้วทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8และ จ.9 หัวหน้าเขตภาษีเจริญในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยทราบคำสั่งแล้วยังคงทำการก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ เป็นรั้วยาวทั้งหมดประมาณ 39 เมตร เขตภาษีเจริญได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษปรับจำเลย คดีถึงที่สุดแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคดี ทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย นายชุมพลเป็นข้าราชการ ส่วนนายวิโรจน์และนายสายัญเกิดและอาศัยอยู่ในซอยแสงหิรัญตลอดมาทั้งปรากฏว่านายสายัญอายุถึง67 ปีแล้ว ส่วนนายวิโรจน์อายุถึง 50 ปี คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า ได้เบิกความไปตามความจริง ที่จำเลยฎีกาว่า คดีอาญาที่จำเลยให้การรับสารภาพ และถูกศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาสร้างอาคาร (รั้ว) โดยไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าว เป็นเรื่องการต่อเติมรั้วด้านทิศใต้ เป็นรั้วที่ล้อมคอร์ดแบดมินตันในที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นรั้นคนละด้านกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น ก็ปรากฏว่าเมื่อนายชุมพลพยานโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยกำลังก่อสร้างรั้วพิพาทซึ่งมีความยาวประมาณ 39 เมตร ก็ได้ทำรายงานตามเอกสารหมาย จ.8, จ.9ถึงผู้บังคับบัญชาและทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.10ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโดยระบุว่า เป็นการก่อสร้างรั้วยาวประมาณ39 เมตร ที่ซอยแสงหิรัญ ซึ่งพนักงานอัยการก็ได้ฟ้องจำเลยตามข้อหาดังกล่าว แม้ว่า ตามเอกสารหมาย จ.11 อันเป็นบันทึกคำฟ้องรับสารภาพและคำพิพากษาของคดีดังกล่าวจะมีข้อความระบุว่าจำเลยได้บังอาจสร้างรั้งล้อมคอร์ดแบดมินตันโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม แต่ตัวจำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ในคดีนี้ว่ารั้วพิพาทเป็นรั้วที่ล้อมคอร์ดแบดมินตันด้านหนึ่งด้วย การที่จำเลยอ้างว่าในคดีอาญาเป็นเรื่องรั้วที่ล้อมคอร์ดแบดมินตัน อันเป็นรั้วคนละด้านกับรั้วพิพาทคดีนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า รั้วพิพาทและอาคารพาณิชย์สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2521 ก่อนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่มีความผิด นั้น เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ทั้งนายหทัยโมฆะโยธิน พยานจำเลยซึ่งมาเบิกความในข้อนี้ก็ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้ออกแบบคอร์ดแบดมินตันให้จำเลย ถ้อยคำจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่เพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้เมื่อจำเลยได้ก่อสร้างอาคาร (รั้ว) พิพาทริมซอยแสงหิรัญอันเป็นทางสาธารณะที่มีความกว้างไม่ถึง 6 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่ร่นแนวรั้วให้ห่างจากศูนย์กลางซอยอย่างน้อย 3 เมตร จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 72 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 และเป็นการฝ่าฝืนที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 42 จำเลยจึงต้องรื้อถอนอาคาร (รั้ว) ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในตประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีละเมิด โจทก์ฟ้องเมื่อเกินกำหนด 1 ปีแล้วนั้น เห็นว่าความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่ความผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์ และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญโจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.