แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/2 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า “ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง…” เมื่อประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2551 จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59, 60 และ 65 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบ ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ตลอดทั้งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/5 วรรคสอง บัญญัติว่า “…หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้…” แสดงว่ากฎหมายกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้ง ส่วนการแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขในการเข้าปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ หากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 149 และ 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 7 กระทง จำคุก 56 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดเบิกความมีรายละเอียดขั้นตอนเริ่มต้นจากการได้ยินข่าวการเรียกรับเงินของจำเลยจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปสอบถามจำเลยหรือจำเลยเรียกไปพบ แม้ว่าจำเลยจะไม่ใช้คำพูดโดยตรง แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่พูดจากับผู้เสียหายทั้งเจ็ดทำนองว่าการเลือกตั้งต้องใช้จ่ายมาก จำเลยและภริยาจำเลยได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้รับการต่อสัญญาจ้างหรือไม่ถูกจำเลยสั่งเลิกจ้าง หรือถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกย้ายออกนอกพื้นที่ นายยืนยงปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮพยานโจทก์เบิกความว่า แม้มีการต่อสัญญาจ้างไปแล้ว และระหว่างอายุสัญญาจ้าง จำเลยก็สามารถเลิกจ้างผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้โดยจำเลยไม่จำต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประเมินหรือตรวจสอบผู้เสียหายทั้งเจ็ดก่อน ยกเว้นผู้เสียหายที่ 6 จะถูกย้ายกลับไปที่ภูมิลำเนาของผู้เสียหายที่ 6 ที่จังหวัดสกลนคร คำเบิกความของนายยืนยงซึ่งเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮในขณะเกิดเหตุเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งเจ็ด และยังมีคำเบิกความของนางพรเพ็ญ นางสุนทรี นายสมบูรณ์ นายมงคล นางสาวปิยะภรณ์ และนายปรีชาสนับสนุน ซึ่งได้รู้เห็นและพูดกับผู้เสียหายทั้งเจ็ด ก่อนที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะนำเงินไปมอบให้จำเลย ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์เกี่ยวกับการเรียกรับเงินของจำเลยมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟัง ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่าจำเลยเรียกรับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ด จำเลยยังไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่เพราะยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่าจำเลยได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 และคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2551 จำเลยแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/2 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า “ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง…” ฉะนั้นเมื่อประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 25 กันยายน 2551 จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59, 60 และ 65 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮตามกฎหมาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮและเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ตลอดทั้งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จึงยังไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการเป็นเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า ความเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยมีผลนับแต่วันประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/5 วรรคสอง บัญญัติว่า “…หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้…”แสดงว่ากฎหมายกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้ง ส่วนการแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขในการเข้าปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮหากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮตามที่จำเลยฎีกา ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้เงินแก่จำเลย ผู้เสียหายที่ 7 เบิกความว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีนายสมพรรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ บอกให้ผู้เสียหายที่ 7 เตรียมเงินจำนวน 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้แก่จำเลย ผู้เสียหายที่ 7 เข้าใจว่าเป็นค่าสัญญาจ้าง ต่อมาประมาณ 1 สัปดาห์ จำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 7 เข้าไปพบที่ห้องทำงานของจำเลยในช่วงเช้า จำเลยพูดว่าที่จำเลยดำรงตำแหน่งปัจจุบันจะต้องลงทุนสูง และถามว่าเข้าใจเรื่องที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยใช่ไหม ซึ่งผู้เสียหายที่ 7 นำเงินไปให้จำเลยเมื่อปลายเดือนกันยายน 2551 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2551 เวลา 9.10 นาฬิกา จำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 6 ไปพบจำเลยที่ห้องทำงานองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮแล้วพูดว่าพนักงานที่ทำหน้าที่ขับรถขยะและเก็บขยะได้จ่ายเงินให้จำเลยจำนวนคนละ 30,000 ถึง 40,000 บาท และบอกผู้เสียหายที่ 6 ว่า แล้วแต่ผู้เสียหายที่ 6 จะให้ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 นำเงินไปให้จำเลยช่วงก่อนจะสิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ 30 กันยายน 2551 ผู้เสียหายที่ 3 นำเงินไปให้จำเลยที่บ้านของจำเลยปลายเดือนกันยายน 2551 ผู้เสียหายที่ 4 นำเงินไปให้จำเลยที่บ้านของจำเลยเมื่อประมาณวันที่ 4 ตุลาคม 2551 ผู้เสียหายที่ 5 นำเงินไปให้จำเลยเมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2551 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 25 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศผลเลือกตั้งให้จำเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮแล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 ถึง 5 และที่ 7 เพื่อตอบแทนในการที่จำเลยจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติต่อสัญญาจ้างให้ผู้เสียหายดังกล่าว และเรียกรับเงินจากผู้เสียหายที่ 6 โดยข่มขู่ว่าหากไม่มอบเงินให้แก่จำเลย จำเลยจะใช้อำนาจโยกย้ายให้ไปช่วยราชการที่อื่น การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือเป็นการที่เจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 รวมจำนวน 7 กรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาในความผิดดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นภัยต่อสังคม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 8 ปี เห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 185 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4