คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ และโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาตามมาตรา 371 กับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297 เป็นกรณีต่างกรรมกัน มิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาความผิดตามมาตรา 297 จึงไม่มีสาเหตุที่จะต้องรับพิจารณาความผิดตาม มาตรา 371 ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และยุติไปแล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม มาตรา371 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม ๑ เล่มติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยร่วมกับพวกใช้มีดปลายแหลมดังกล่าวแทงทำร้ายนายสมศักดิ์ ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๘), ๓๗๑, ๘๓, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗ ลงโทษจำคุก และผิดตามมาตรา ๓๗๑ ให้ลงโทษปรับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาความผิดฐานพาอาวุธมีดปลายแหลมติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ มีอัตราโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่เชื่อว่าจำเลยมีมีดและใช้มีดนั้นแทงทำร้ายผู้เสียหายหรือร่วมกับผู้อื่นทำร้ายผู้เสียหายและพิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ และโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานนี้กับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสเป็นกรณีต่างกรรมกันโดยมิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์จะต้องรับพิจารณาความผิดฐานพาอาวุธมีดปลายแหลมติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และยุติไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ดังกล่าวและพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบคดีของโจทก์ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาเฉพาะในข้อที่ว่าจำเลยได้ร่วมเป็นคนร้ายที่ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสดังฟ้องโจทก์หรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑

Share