คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละเท่าใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226(2) และถึงแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียวแต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตามที่มาตรา 168บัญญัติไว้
ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ในอัตราร้อยละ 1ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการโต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมายของตาราง 1 ข้อ 1(ค)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน380,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 254, 1181, 1182 และ 1189 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมอบอำนาจให้นายวิบูลย์ หอธรรมรัตน์ ดำเนินคดีนี้ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดินที่โจทก์นำยึดเพื่อขายทอดตลาดดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นเป็นเงินจำนวน 7,552,881.20 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 4,032,961.37 บาทนับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2543 จนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีต่อ ผู้ร้องขอสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์ โดยผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนองชำระหนี้ภายในเวลาอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขอ

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเป็นร้อยละ 2.5 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง ผู้ร้องจึงชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก 1.5ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นเงินจำนวน 113,293.50 บาท โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามอุทธรณ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์เพียงข้อเดียวว่าที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการพิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีกร้อยละ 1.5ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าคำร้องขอให้บังคับจำนองของผู้ร้องซึ่งเป็นคำฟ้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละเท่าใดนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ร้องมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 226(2) และศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้ว่าผู้ร้องจะอุทธรณ์ในเรื่องค่าขึ้นศาลเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นการอุทธรณ์โดยยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามผู้ร้องอุทธรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 บัญญัติไว้ ดังนี้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องให้ ส่วนในปัญหาว่ากรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นในอัตราร้อยละเท่าใดนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1แต่ไม่ให้เกิน 100,000 บาท ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยผู้จำนองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีหรือคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านก็ถือว่าเป็นเพียงการโต้แย้งในชั้นบังคับคดีของโจทก์เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยตามความหมายของตาราง 1ข้อ 1(ค) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเรื่องทำนองนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4069/2532 ระหว่างนางสุภาพ แซ่เซียว กับพวก โจทก์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้ร้อง นางสาวเสาวรัตน์วรินทรเวช กับพวก จำเลยที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องในอัตราร้อยละ 2.5 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีกร้อยละ 1.5ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง และให้คืนค่าขึ้นศาล ส่วนที่ผู้ร้องเสียเพิ่มดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 113,293.50 บาท แก่ผู้ร้อง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ”

Share