คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญารับรองกับโจทก์ว่าไม่มีการรอนสิทธิ โดยโจทก์มิได้ฟ้องร้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดเพราะการรอนสิทธิ การฟ้องร้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถือบทบัญญัติอายุความทั่วไปคือ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งแปดได้เข้าเป็นหุ้นส่วนกัน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินสามแปลงจากจำเลยทั้งสองและได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้ในราคาไร่ละ390,000 บาท รวม 39 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา เป็นเงิน 15,391,350 บาท ได้วางมัดจำ4,000,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 19 ธันวาคม 2532 มีข้อตกลงด้วยว่าที่ดินดังกล่าวนั้นต้องปลอดจำนองตลอดจนปราศจากภาระติดพันและการรอนสิทธิหากผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งผู้ที่จะขายยินยอมคืนมัดจำ 4,000,000 บาท และให้ปรับอีก4,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2532 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ไปดำเนินการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวตามสัญญาจะซื้อขาย โดยใส่ชื่อโจทก์ที่ 3ถึงที่ 8 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือ แต่ในสัญญาซื้อขายระบุว่าซื้อขายกันในราคาเพียง 6,000,000 บาท ต่อมาประมาณต้นปี 2533 โจทก์จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว พบว่ามีนายพิศิษฐ์ ทองเขม่น ทำนาอยู่ จึงเข้าทำประโยชน์ไม่ได้และต่อมามีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดสมุทรสาครว่าการเช่าที่ดินของนายพิศิษฐ์ที่เช่าจากนางสาวสุนีย์ ทองโอชัย ยังมีผลใช้บังคับ จึงเป็นเหตุให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ไม่ได้ โจทก์ทั้งแปดได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยซึ่งเป็นการผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งแปดทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินที่ซื้อมานั้นมีนายพิศิษฐ์ทองเขม่น ทำนาอยู่ในขณะที่มีการซื้อขาย นอกจากนี้โจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุกแก่นายพิศิษฐ์ แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไม่ใช่ความผิดของจำเลย ถึงแม้คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเช่าของนายพิศิษฐ์ว่ายังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านและไม่ได้ฟ้องคดีให้จำเลยต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิใน 3 เดือน นับแต่ที่ได้ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ทั้งแปดและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งแปด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532 โจทก์ทั้งแปดตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 2121 โฉนดเลขที่ 2961 โฉนดเลขที่ 2962 โดยโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้จะซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2ลงนามในฐานะผู้จะขาย ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.1 ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 4 ผู้จะขายให้สัญญาว่า ผู้จะขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อโดยปลอดจำนอง ตลอดจนปราศจากภาระติดพันการรอนสิทธิบนที่ดินดังกล่าว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกก็ตามต่อมาจำเลยทั้งสองผู้จะขายได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 8 แล้ว แต่ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2121 มีนายพิศิษฐ์ ทองเขม่น เช่าทำนาอยู่ โดยมีสัญญาเช่ากับนางสาวสุนีย์ ทองโอชัย เจ้าของที่ดินเดิม คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลท่าเสา เคยมีคำวินิจฉัยว่าสิทธิการเช่าของนายพิศิษฐ์สิ้นสุดลง แต่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดสมุทรสาครวินิจฉัยกลับว่า สิทธิการเช่าของนายพิศิษฐ์ยังคงมีผลบังคับอยู่

ปัญหาตามฎีกาจำเลยปัญหาแรกที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปแล้ว นายพิศิษฐ์รื้อบ้านและออกจากที่ดินพิพาทตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 แล้วโจทก์น่าจะเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่พิพาทแต่ไม่กระทำ ปล่อยให้นายพิศิษฐ์กลับมาเข้าครอบครองที่พิพาทใหม่ การรอนสิทธิจึงมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองทั้งวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โจทก์จำเลยทั้งสองต่างให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินไม่มีผู้เช่า ซึ่งเท่ากับโจทก์ยอมรับแล้วว่าที่พิพาทไม่มีการรอนสิทธิ โจทก์จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเพียงว่าโจทก์ทั้งแปดทราบดีอยู่แล้วในขณะซื้อขายว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อมีนายพิศิษฐ์ ทองเขม่น เข้าทำนาในที่ดินดังกล่าวอยู่แล้วในขณะซื้อขาย ทั้งโจทก์ยินยอมให้นายพิศิษฐ์ทำนาต่อมาอีกหลังจากที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ดังนี้ ในข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่านายพิศิษฐ์รื้อบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วกลับเข้ามาใหม่ และในข้อที่ว่าการโอนสิทธิมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เพราะโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินไม่มีผู้เช่า ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าไม่มีการรอนสิทธิจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ และเป็นเรื่องนอกคำให้การของจำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นปัญหานี้จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่า เมื่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 ว่าสิทธิการเช่าของนายพิศิษฐ์ยังมีอยู่ ไม่หมดสิ้นลง โจทก์ทั้งแปดมีหน้าที่โต้แย้งคำสั่งคณะกรรมการ โดยฟ้องนายพิศิษฐ์ต่อศาลภายใน60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งนั้น แต่โจทก์ทั้งแปดต่างเพิกเฉยไม่ดำเนินการเป็นการยอมสมัครใจตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องแล้ว โจทก์ทั้งแปดชอบจะฟ้องร้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งโจทก์ทั้งแปดฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดสามเดือน นับแต่วันทราบคำสั่งคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คดีโจทก์ทั้งแปดขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเพราะจำเลยทั้งสองผิดสัญญารับรองกับโจทก์ว่าไม่มีการรอนสิทธิ มิได้ฟ้องร้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดเพราะการรอนสิทธิ การฟ้องร้องว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะต้องถือบทบัญญัติอายุความทั่วไปคือ 10 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันจำเลยทั้งสองผิดสัญญาแล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share