แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความ ผลสำเร็จของงานย่อยอยู่ที่การว่าความจนคดีถึงที่สุด ส่วนการแพ้หรือชนะเป็นเพียงผลแห่งการงานในการชำระสินจ้างเท่านั้น เมื่อคดีที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความถึงที่สุด เพราะมีการตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและถอนฟ้องในคดีอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไป
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ต้องปฏิบัติชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ในขณะเดียวกัน เมื่อโจทก์ผู้รับจ้างได้ทำงานให้จำเลยผู้ว่าจ้างและจำเลยได้รับผลงานเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไป ส่วนข้อตกลงที่ว่า “ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไรและย่อมอยู่แก่ความพอใจของจำเลย” นั้น เป็นเพียงข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม มิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144(เดิม) มาตรา 182(ใหม่) สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความว่าความให้จำเลยในคดีของศาลชั้นต้นรวม 3 คดี ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 806,739 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 800,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความให้จำเลย 3 คดี โดยตกลงจะให้ค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ 80,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้เบิกเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายไปจากจำเลยเป็นเงินเกือบ 200,000 บาท และยังเบิกเงินค่าจ้างว่าความไปจากจำเลย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 50,000 บาท คดีทั้งสามคดีที่โจทก์รับว่าความให้จำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยไม่ได้สืบพยานแต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้ว่าความให้จำเลยชนะคดีตามที่ตกลงกัน และจำเลยต้องชำระเงินให้แก่คู่ความอีกฝ่ายเป็นเงินถึง 8,000,000 บาท โจทก์จึงตกลงไม่เรียกเอาค่าจ้างว่าความจากจำเลยอีกต่อไปขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 800,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นทนายความให้ว่าความรวมสามคดี สำหรับคดีแพ่งทั้งสองคดีซึ่งรวมพิจารณาจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ส่วนคดีอาญาจำเลยขอถอนฟ้อง คดีทั้งสามคดีจึงถึงที่สุด
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยตกลงให้สินจ้างเป็นค่าจ้างว่าความโจทก์จำนวนเท่าใด และจะต้องชำระให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์จะต้องว่าความให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีทั้งสามคดีจึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างว่าความนั้น เห็นว่าการที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความ ผลสำเร็จของงานย่อมอยู่ที่การว่าความจนคดีถึงที่สุด ส่วนการแพ้หรือชนะเป็นเพียงผลแห่งการงานในการชำระสินจ้างเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคดีทั้งสามคดีที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความถึงที่สุด เพราะมีการตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและถอนฟ้องในคดีอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไป และเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดสินจ้างเป็นค่าจ้างว่าความให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างว่าข้อตกลงที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ว่าความมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจ่ายค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์ ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไรและย่อมอยู่แก่ความพอใจของจำเลยนั้น เป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เห็นว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ต้องปฏิบัติชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงตามสัญญาจ้างว่าความจึงเป็นหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันเมื่อโจทก์ได้ทำงานให้จำเลยและจำเลยได้รับผลงานเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไป ส่วนข้อตกลงที่ว่า “ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร และย่อมอยู่แก่ความพอใจของจำเลย” นั้น เป็นเพียงข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับความเป็นผลหรือสิ้นผลของนิติกรรม มิใช่เงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 144 (เดิม) มาตรา 182 (ใหม่) สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
พิพากษายืน