แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนบุคคลธรรมดาได้และนิติบุคคลที่จะเป็นตัวแทนฟ้องความแทนผู้อื่นตามที่ได้รับมอบหมายไม่จำต้องมีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนฟ้องความอีกต่างหากก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่เรื่องเป็นความนั้นอยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นนิติบุคคลนั้นก็ย่อมเป็นตัวแทนฟ้องความตามที่ได้รับมอบอำนาจได้
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนิติบุคคลมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับโจทก์ แม้ในสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนจะมีข้อความระบุว่า โจทก์มีอาชีพเป็นพนักงานรถไฟก็ตามแต่เมื่อไม่ปรากฏข้อความว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นนิติบุคคลมีขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการที่โจทก์ถูกจำเลยกระทำละเมิด นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจฟ้องคดีแทนบุคคลใด ๆ ได้เป็นส่วนตัว ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยกระทำละเมิดเป็นการเฉพาะตัวของโจทก์เอง มิได้เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งมีนายเสมอเชาว์ไว ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2538 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา โจทก์ได้นั่งโดยสารมากับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อมิตซูบิชิแลนเซอร์ คันหมายเลขทะเบียน ฉ-2063 กรุงเทพมหานคร (ป้ายแดง) ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ขับไปตามถนนสายเอเชียจากจังหวัดนครสวรรค์ มุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร โดยมีภรรยาและบุตรของโจทก์ร่วมโดยสารไปด้วย ขณะที่รถยนต์แล่นอยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 201-202 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท จำเลยได้ขับรถยนต์โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังอันควรมีตามวิสัยและพฤติการณ์แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ จำเลยได้ขับรถด้วยความเร็วสูงและห้ามล้อกะทันหันเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักแฉลบลงข้างทางของถนนและพลิกจนเป็นเหตุให้โจทก์และภรรยาโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนบุตรโจทก์ได้เสียชีวิตทันที โจทก์ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์นครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงิน 30,651 บาท และไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ากรุงเทพ-มหานคร เสียค่ารักษาพยาบาลอีกเป็นจำนวนเงิน 1,860 บาท รวมเป็นเงิน 32,511 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และก่อให้โจทก์เสียหาย โจทก์เคยทวงถามจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 34,949 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 32,511 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนบุคคลธรรมดาได้และนิติบุคคลที่จะเป็นตัวแทนฟ้องความแทนผู้อื่นตามที่ได้รับมอบหมายไม่จำต้องมีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนฟ้องความอีกต่างหากก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่เรื่องเป็นความนั้นอยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น นิติบุคคลนั้นก็ย่อมเป็นตัวแทนฟ้องความตามที่ได้รับมอบอำนาจได้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนิติบุคคล มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับโจทก์ แม้ในสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทน เอกสารหมาย จ.1 ท้ายคำฟ้องจะมีข้อความระบุว่า โจทก์มีอาชีพเป็นพนักงานรถไฟตำแหน่งพนักงานเตรียมข้อมูล 4 ฝ่ายระบบข้อมูล ก็ตาม ก็ไม่ปรากฏข้อความว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นนิติบุคคลมีขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการที่โจทก์ถูกจำเลยกระทำละเมิดแต่ประการใดนอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ล้วนแต่กำหนดขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกิจการรถไฟโดยตรงและที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของการรถไฟที่รับโอนมาทั้งสิ้น ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจฟ้องคดีแทนบุคคลใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยกระทำละเมิดเป็นการเฉพาะตัวของโจทก์เอง มิได้เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์
พิพากษายืน