แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินที่ผู้ร้องเป็นลูกหนี้จำเลยผู้ล้มละลาย. ฉะนั้น การที่ผู้ร้องและทนายตลอดจนพยานไม่มาศาลตามวันเวลาที่นัดไต่สวน โดยมิได้ขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุให้ศาลทราบ. ถือได้ว่าเป็นการขาดนัด. และในกรณีเช่นนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป. ศาลก็ต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201.ผู้ร้องมีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียว คือการร้องเริ่มต้นคดีใหม่ ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับแห่งอายุความหรือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้. ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนใหม่เกินกำหนดเวลา 14 วันนับจากที่ผู้ร้องทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ชำระหนี้. จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย.
ในกรณีที่ผู้ร้องขาดนัดพิจารณา และศาลสั่งให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องไปนั้น. ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งคดี. จึงไม่เป็นเหตุให้กำหนดระยะเวลาที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สะดุดหยุดลง.
ย่อยาว
ในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ผู้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แห่งคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เชื่อว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อจากจำเลยเป็นเงิน 14,501 บาท จึงสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่29 สิงหาคม 2506 เป็นต้นไปต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วันผู้ร้องทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510 แต่ผู้ร้องปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2510 ขอให้ศาลไต่สวนสั่งงดชำระเงิน 14,501บาทและดอกเบี้ยให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ครั้งแรกนัดสืบพยานผู้ร้องวันที่ 21เมษายน 2510 ถึงวันนัดทนายผู้ร้องขอเลื่อนเพราะป่วย ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปวันที่ 15 มิถุนายน 2510 เวลา 8.30 นาฬิกา โดยเสมียนทนายเป็นผู้รับทราบวันเวลานัด ครั้นถึงวันเวลานัด ผู้ร้องและทนายตลอดจนพยานไม่มาศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลจำหน่ายคดีผู้ร้อง ศาลสั่งว่า ผู้ร้องขาดนัดให้จำหน่ายคดี ส่วนคำร้องขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นของผู้ร้องนั้น ศาลสั่งว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะสั่งจำหน่ายคดีแล้ว ในวันเดียวกันนั้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้นัดไต่สวนให้ผู้ร้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยอ้างว่าเสมียนทนายจดเวลานัดของศาลผิดไป รุ่งขึ้นวันที่ 16มิถุนายน 2510 ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของผู้ร้องว่า การสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องเป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 จะขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ ให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่20 มิถุนายน 2510 ผู้ร้องยื่นคำร้องมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำร้องลงวันที่ 6 มีนาคม 2510 อีกฉบับหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องนั้นในวันรุ่งขึ้นว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ชำระเงิน 14,501 บาทเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510ซึ่งนับถึงวันยื่นคำร้องฉบับหลังเกิน 14 วัน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 จึงไม่รับคำร้องฉบับหลังของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง และที่ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง คือคำสั่งลงวันที่ 16 และ 21 มิถุนายน 2510 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา สำหรับฎีกาคำสั่งลงวันที่ 16 มิถุนายน 2510 ซึ่งสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้พิจารณาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันที่ 15 มิถุนายน 2510 เวลา 8.30 นาฬิกาตามที่ศาลนัด โดยมิได้ขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุที่ไม่มาศาลให้ศาลทราบนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา197 วรรค 2 ให้ถือว่าขาดนัด และคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป ศาลจึงต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งที่สั่งให้จำหน่ายคดีหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่กรณีไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ จะทำได้เพียงประการเดียวเท่านั้นคือการร้องเริ่มต้นคดีใหม่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งอายุความหรือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เฉพาะคดีนี้ก็คือภายใน 14 วันนับแต่วันทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กล่าวคือนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510 ฉะนั้น ที่ผู้ร้องร้องขอให้ไต่สวนใหม่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2510 จึงเกิน 14 วันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119และกรณีที่ผู้ร้องขาดนัดพิจารณา ศาลสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องไปนั้น ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งคดี ไม่เป็นเหตุให้กำหนดระยะเวลาที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สะดุดหยุดลง ไม่ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านได้ พิพากษายืน.