คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอให้ปล่อยตัวโดยอ้างว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240 กำหนดให้ศาลไต่สวนพยานผู้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวโดยด่วนก่อน เมื่อศาลเห็นว่าคำร้องมีมูล ศาลจึงจะสั่งให้ผู้คุมขังนำตัวผู้ถูกคุมขังไปศาล และเป็นหน้าที่ของผู้คุมขังต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจของศาลว่าการคุมขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้นก็จะสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ทั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้คุมขังต้องนำพยานมาสืบ เพียงแต่ให้ผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าเป็นการคุมขัง ที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การไต่สวนและการระบุอ้างพยานในชั้นนี้จึงไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติในกฎหมายวิธีสบัญญัติเรื่องการสืบพยานในคดี ดังนั้น แม้ผู้คุมขังมิได้ยื่นคำคัดค้านและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก็ตาม ก็สามารถนำพยานเข้าไต่สวนและอ้างส่งเอกสารได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติรับรองให้กฎหมาย กฎ หรือ ข้อบังคับที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าโดยเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แล้วก็ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป มิใช่จะต้องมีการออกกฎหมายบัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังจากรัฐธรรมนูญฯ มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น ดังนั้น บทบัญญัติเรื่องการค้นในที่รโหฐานกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนย่อมยังใช้บังคับต่อไปได้
แม้พันตำรวจเอก ป. ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตร กับพวกค้นบ้านผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายค้นของศาลก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 238 ได้บัญญัติยกเว้นให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาล ได้แก่ ป.วิ.อ. มาตรา 92
ก่อนจะค้นบ้านผู้ต้องหา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ได้จับกุม ท. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 95 เม็ด ท. ให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ต้องหา ขณะจับกุม ท. เป็นเวลา 16 นาฬิกาเศษ การค้นในที่รโหฐานตามปกติจะต้องกระทำในเวลากลางวัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 96 ในขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้จะมืดแล้ว ประกอบกับยาเสพติดเป็นสิ่งของที่ขนย้ายหลบหนีได้ง่ายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากนั้นพันตำรวจเอก ป. ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตรมิได้อยู่ใกล้กับศาลชั้นต้น การไปขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นย่อมจะทำให้เนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้เมทแอมเฟตามีนของกลางอาจจะถูกโยกย้ายเสียก่อนแล้ว กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) ที่บัญญัติว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน ดังนั้น การค้นบ้านผู้ต้องหาจึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ต้องหาถูกผู้ร้องจับกุมดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และถูกขังระหว่างสอบสวนตามหมายขังระหว่างสอบสวนของศาลชั้นต้น ผู้ต้องหายื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ เวลา ๑๗ นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นบ้านของผู้ต้องหาโดยไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล เป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๘ ขอให้มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา
ผู้ต้องหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
ผู้ต้องหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ เวลา ๑๗ นาฬิกา พันตำรวจเอกประยุทธ วะนะสุข กับพวกได้ไปค้นบ้านผู้ต้องหาโดยไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล แต่ได้ขอให้นายวุฒิพงศ์ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้านและเด็กชายศรายุทธ บุตรผู้ต้องหาเป็นพยานในการค้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ต้องหาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ผู้ต้องหาอ้างว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านตลอดจนบัญชีระบุพยาน และขณะไต่สวนพยานผู้ร้อง ศาลชั้นต้น มิได้ให้ทนายผู้ต้องหาถามค้านพยานของผู้ร้อง กระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๐ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ และมาตรา ๑๑๗ วรรคสอง เห็นว่า การร้องขอให้ปล่อยตัวโดยอ้างว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๐ กำหนดให้ศาลไต่สวนพยานผู้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียว โดยด่วนก่อน เมื่อศาลเห็นว่าคำร้องมีมูล ศาลจึงจะมีคำสั่งให้ผู้คุมขังนำตัวผู้ถูกคุมขังไปศาล และเป็นหน้าที่ของผู้คุมขังต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจของศาลว่าการคุมขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้นศาลก็จะสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานผู้ต้องหาไปฝ่ายเดียว แล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงให้นัดไต่สวนพยานของผู้ร้องโดยให้ หัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตรเตรียมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจค้น จับกุม และฝากขังผู้ต้องหาไปแสดงต่อศาล รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๐ บัญญัติไว้ ทั้งตาม บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องนำพยานมาสืบ เพียงแต่ให้ผู้ร้องแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าเป็นการคุมขังที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การไต่สวนและการระบุอ้างพยานในชั้นนี้จึงไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติในกฎหมายวิธีสบัญญัติ เรื่องการสืบพยานในคดี ดังนั้นแม้ผู้ร้องมิได้ยื่นคำคัดค้านและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก็ตาม ก็สามารถนำพยานเข้าไต่สวนและอ้างส่งเอกสารได้ตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ ปรากฏว่าในวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้อง ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาก็ไปฟังการพิจารณาด้วย ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาย่อมมีสิทธิที่จะขอถามพยานของผู้ร้องได้ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาแสดงความประสงค์ที่จะขอถามพยานผู้ร้องแต่ประการใด ดังนั้นที่ผู้ต้องหาอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่เปิดโอกาสให้ทนายผู้ต้องหาค้านพยานผู้ร้องจึงฟังไม่ขึ้น ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ต้องหาข้อสองต่อไปว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๘ ที่บัญญัติยกเว้นการค้นในที่รโหฐานโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลว่า “…ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น หมายความว่าจะต้องมีการออกกฎหมายบัญญัติยกเว้นการค้นโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล ขึ้นมาบังคับใช้ภายหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีผลบังคับแล้วหรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๖ แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติ ดังกล่าวนี้เองรับรองให้กฎหมาย กฎหรือข้อบังคับที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าโดยเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แล้วก็ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป มิใช่จะต้องมีการออกกฎหมายบัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น ดังนั้น บทบัญญัติเรื่องการค้นในที่รโหฐานกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนย่อมใช้บังคับต่อไปได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ต้องหาข้อสามว่า การค้นบ้านผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าพันตำรวจเอกประยุทธ วะนะสุข ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตรกับพวก ค้นบ้านผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายค้นของศาลก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๘ ได้บัญญัติยกเว้นให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาอาญา มาตรา ๙๒ ในการค้นบ้าน ผู้ต้องหาครั้งนี้ปรากฏว่าก่อนจะค้นบ้านผู้ต้องหาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ได้จับกุมนายทศพล อุ่นปัน ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๙๕ เม็ด นายทศพลให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากผู้ต้องหา ขณะจับกุมนายทศพลเป็นเวลา ๑๖ นาฬิกาเศษ พันตำรวจเอกประยุทธอ้างว่าไม่สามารถเดินทางไปขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นได้ทัน เพราะหากชักช้าจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายของกลาง เห็นว่า การค้นในที่รโหฐานตามปกติจะต้องกระทำในเวลากลางวัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๖ ในขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้จะมืดแล้ว ประกอบกกับยาเสพติดเป็นสิ่งของที่ขนย้ายหลบหนีไปได้ง่ายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากนั้นพันตำรวจเอกประยุทธประจำอยู่ที่สถานีตำรวจอำเภอห้างฉัตรมิได้อยู่ใกล้กับศาลชั้นต้น การไปขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นย่อมจะทำให้เนิ่นช้า กว่าจะเอาหมายค้นมาได้เมทแอมเฟตามีนของกลางอาจจะถูกโยกย้ายเสียก่อนแล้ว ดังนั้นกรณีจึงเข้า ข้อยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๒ (๔) ที่บัญญัติว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้อง มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน ดังนั้นการค้นบ้าน ผู้ต้องหาจึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว และเมื่อฟังว่าการค้นบ้านผู้ต้องหาชอบแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาผู้ต้องหาข้ออื่นอีก ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share