คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7380/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ประกันภัย ละเมิด รับช่วงสิทธิ (ชั้นขอให้พิจารณาใหม่) ++
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (10) “วันสืบพยาน” หมายความว่าวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
โจทก์ยื่นคำฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้รับฟ้องและนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2541 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การได้ภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ฉะนั้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นวันสืบพยานโจทก์นัดแรกนั้นแม้โจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ได้เพราะยังไม่พ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเพื่อรอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว หรือเมื่อครบกำหนดเวลายื่นคำให้การหากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ วันที่ 21 กรกฎาคม2541 จึงมิใช่ “วันสืบพยาน” ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้แม้โจทก์จะมิได้ไปศาลในวันดังกล่าวโดยเข้าใจว่าวันนัดคลาดเคลื่อนไปเพราะความผิดพลาดของโจทก์ แต่ก็เป็นคนละเหตุที่จะให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๘๖,๑๗๗ บาท ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑เวลา ๙ นาฬิกา จำเลยยังไม่ยื่นคำให้การ เพราะยังไม่ครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การ คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า โจทก์ไม่จงใจไม่มาศาลเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ เวลา ๙ นาฬิกา ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและมีคำสั่งเกี่ยวกับการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง กับกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ใหม่แจ้งให้จำเลยทราบ
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลตามกำหนดนัดเป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมิได้ผิดหลง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความจึงชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่เพราะจะขอได้ต่อเมื่อมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า คำร้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๗ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ เวลา ๙ นาฬิกา จึงมิได้มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เวลา ๙ นาฬิกา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความและวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๑๐) “วันสืบพยาน” หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน แต่สำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่าโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๑ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้รับฟ้องและนัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑เวลา ๙ นาฬิกา ปรากฏว่าเจ้าพนักงานศาลเพิ่งส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การได้ภายในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ฉะนั้นวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นวันสืบพยานโจทก์นัดแรกนั้น แม้โจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ได้ เพราะยังไม่พ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเพื่อรอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้วหรือเมื่อครบกำหนดเวลายื่นคำให้การหากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ วันที่๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จึงมิใช่ “วันสืบพยาน” ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้ไปศาลในวันดังกล่าวโดยเข้าใจว่าวันนัดสืบพยานโจทก์คือวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๑คลาดเคลื่อนไปเพราะความผิดพลาดของโจทก์เอง แต่ก็เป็นคนละเหตุที่จะให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ จึงถูกต้องแล้ว
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่มีคำสั่งให้โจทก์ขาดนัดพิจารณา แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share