คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7371/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 หากความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่ามิได้เกิดจากการใช้ทรัพย์สินโดยมิชอบ และมิใช่เป็นการกระทำของผู้เช่าหรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่าหรือของผู้เช่าช่วง ผู้เช่าก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า ส่วนข้อตกลงรับผิดนอกเหนือจากนี้ที่มีระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเป็นเรื่องที่บังคับได้ระหว่างคู่กรณีเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้เช่าในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่าจากบุคคลภายนอกผู้กระทำละเมิด โจทก์ฟ้องบุคคลภายนอกเรียกค่าเสียหายที่เกิดแก่ตัวเรือมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการรับขน บุคคลที่ต้องเสียหายและมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 คือเจ้าของเรือ โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าจะใช้สิทธินั้นได้ก็แต่โดยอาศัยการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และ 227 ซึ่งต้องชำระหนี้ค่าเสียหายแก่เจ้าของเรือไปก่อน จึงจะฟ้องผู้กระทำละเมิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดทำการค้ารับจ้างขนสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทยและจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ จำเลยทั้งสี่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2525 และวันที่ 21 มีนาคม 2526จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ขนสินค้ามันสำปะหลังจำนวน 30,000 ตัน และ 40,000 ตัน จากท่าเรือเกาะสีชังอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไปยังประเทศยุโรปตอนเหนือโดยทางเรือเดินทะเล โจทก์ได้เช่าเรือเดินทะเลเซ้าท์ฟอร์จูนจากบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2526 เพื่อมาขนส่งสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้โจทก์จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่เรือที่โจทก์เช่ามาเพื่อการขนส่งนั้นทุกประการไม่ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใดและก่อนที่เรือเดินทะเลที่โจทก์เช่าจะมาถึงท่าเรือเกาะสีชังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอโจทก์รมควันสินค้าด้วยแก๊สในเรือเดินทะเลนั้น โดยใช้จ้างวานจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์จึงขออนุญาตไปยังเจ้าของเรือและเจ้าของเรือยืนยันให้ต้องรับรองรับผิดชอบในความเสียหายให้แก่เจ้าของเรือโดยตรงในผลที่จำเลยทั้งสี่ขอรมควันสินค้าในเรือนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันดำเนินกรรมวิธีรมควันใช้แก๊สนั้นโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังในลักษณะต่าง ๆ ตามควรแก่กรณี อีกทั้งขาดความสามารถ ความชำนาญพิเศษ และดำเนินการอย่างรีบเร่งจึงเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงในระวางเรือที่ 2ในขณะรมควันทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นอย่างมาก เป็นผลให้เรือที่โจทก์เช่ามาเกิดความเสียหายต่าง ๆ มากมาย หลังเกิดเหตุละเมิดแล้วเจ้าของเรือผู้ให้เช่าเรียกร้องมายังโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเงิน 465,388.45เหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 12,798,182.37 บาท การละเมิดดังกล่าวนั้นจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือที่เช่ามา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 12,798,182.37 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเรือหรือผู้รับช่วงสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทซังโกสตีมชิป จำกัด เจ้าของเรือให้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและโจทก์ในฐานะผู้เช่าเรือมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการละเมิดนี้ตามสัญญาเช่าเรือที่ทำไว้กับเจ้าของเรือเมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้ให้เจ้าของเรือแล้ว โจทก์ยังไม่ได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาขายมันสำปะหลังอัดเม็ดให้บริษัทโครห์นอิมปอร์ต เอ็กปอร์ต จำกัด ประเทศเยอรมันนีโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ซื้อได้เช่าเรือเซ้าท์ฟอร์จูนจากบริษัท ซังโกสตีมชิป จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ และโจทก์ขออนุญาตจากเจ้าของเรือเพื่อทำการรมควันสินค้าในเรือ เจ้าของเรืออนุญาตโดยให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527หลังจากนำสินค้าลงเรือแล้ว จำเลยที่ 3 ทำการรมควันสินค้าในระวางเรือที่ 2 และที่ 4 โดยใช้สารฟอสฟิน เริ่มลงมือทำงานประมาณ 10 นาฬิกา เสร็จเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกาแล้วขอให้ลูกเรือเปิดฝาระวางเรือ ครั้นเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ของวันนั้นเองได้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงที่ระวางเรือที่ 2 ทำให้เรือได้รับความเสียหาย โจทก์ถูกเจ้าของเรือเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายแต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่เจ้าของเรือ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีความรับผิดตามสัญญาเช่าและต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการรมควันในเรือตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 ต่อเจ้าของเรือ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ผู้ที่ทำละเมิดจนเกิดความเสียหายแก่เรือโดยไม่ต้องอาศัยสิทธิของเจ้าของเรือและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของเรือแล้วรับช่วงสิทธิมาฟ้อง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 562 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเองหรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่าหรือของผู้เช่าช่วง”และวรรคสองบัญญัติว่า “แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ” จะเห็นได้ว่าในเรื่องเช่านั้นหากความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่านั้นมิใช่เกิดจากการใช้ทรัพย์สินโดยมิชอบ และมิใช่เป็นการกระทำของผู้เช่าหรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่าหรือของผู้เช่าช่วง ผู้เช่าก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า ส่วนข้อตกลงรับผิดนอกเหนือจากนี้ที่มีระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเป็นเรื่องที่บังคับได้ระหว่างคู่กรณีเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวหาก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้เช่าในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่าจากบุคคลภายนอกผู้กระทำละเมิดไม่ สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดแก่ตัวเรือ มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการรับขน บุคคลที่ต้องเสียหายและมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 คือเจ้าของเรือโจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าจะใช้สิทธินั้นได้ก็แต่โดยอาศัยการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และ 227ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงกับคดีนี้ และที่โจทก์อ้างว่าจำเป็นต้องฟ้องคดีนี้เสียก่อนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความนั้นก็ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share