แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากสืบพยานเสร็จ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เพิ่งทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการต้องโทษของจำเลยและขอแก้ไขฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญา และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ ขอให้นับโทษจำเลยเรียงติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาสั่งคำร้องของโจทก์ในวันนัดฟังคำพิพากษาและในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องได้ เช่นนี้ แม้จำเลยมิได้คัดค้านคำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์ กรณีก็ไม่อาจถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ขอแก้ไขฟ้องดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้แสดงให้ปรากฏต่อศาลว่า จำเลยเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวตามคำร้องของโจทก์จริงหรือไม่ และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีดังกล่าวหรือไม่เพียงใด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอื่นที่อาจนำโทษในคดีนี้ไปนับติดต่อได้
ตาม พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2539 เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั่วราชอาณาจักร และปฏิบัติงานตาม ป.วิ.อ. และตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนให้บริการช่วยเหลือประชาชน เมื่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการปฏิบัติงานตาม ป.วิ.อ. พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนเกี่ยวกับความผิดอาญาทั่วราชอาณาจักรตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจสอบสวน เป็นการกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานของหน่วยงานภายในกรมตำรวจให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การที่ระเบียบดังกล่าวกำหนดลักษณะความผิดที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามไว้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่กรมตำรวจมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเท่านั้น การที่ผู้บังคับการกองปราบปรามมีคำสั่งที่ 288/2538 แต่งตั้งพนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนคดีนี้ โดยผู้บัญชาการสอบสวนกลางอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในระเบียบแล้ว จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบกรมตำรวจ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 337, 362, 365 (2) และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 8,100,000 บาท แก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญาด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก, 365 (2) ประกอบ 362, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ จำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 8,100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นโทษอะไร จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก, 83 จำคุก 3 ปี ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญา ให้ยกฟ้องข้อหาบุกรุกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์นับโทษของจำเลยคดีนี้ติดต่อกับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญาได้หรือไม่ คดีได้ความว่า หลังจากสืบพยานเสร็จ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เพิ่งทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการต้องโทษของจำเลยและขอแก้ไขฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญา และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอนับโทษจำเลยเรียงติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาสั่งคำร้องของโจทก์ในวันนัดฟังคำพิพากษาและในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องได้ เช่นนี้ แม้จำเลยมิได้คัดค้านคำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์ กรณีก็ไม่อาจถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ขอแก้ไขฟ้องดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้แสดงให้ปรากฏต่อศาลว่า จำเลยเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ตามคำร้องของโจทก์จริงหรือไม่ และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีดังกล่าวหรือไม่เพียงใด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอื่นที่อาจนำโทษในคดีนี้ไปนับติดต่อได้ ที่ศาลอุทธรณ์นับโทษของจำเลยคดีนี้ติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญา ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ตามพฤติการณ์ของจำเลยกับพวกเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจสอบสวนของกองปราบปรามตามระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2539 เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั่วราชอาณาจักร และปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนให้บริการช่วยเหลือประชาชน เมื่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนกองปราบปราม จึงมีอำนาจสอบสวนเกี่ยวกับความผิดอาญาทั่วราชอาณาจักรตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจการสอบสวนตามที่จำเลยอ้างเป็นการกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานของหน่วยงานภายในกรมตำรวจให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การที่ระเบียบดังกล่าวกำหนดลักษณะความผิดที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามไว้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่กรมตำรวจมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเท่านั้น การที่ผู้บังคับการกองปราบปรามมีคำสั่งที่ 288/2538 แต่งตั้งพนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนคดีนี้ โดยผู้บัญชาการสอบสวนกลางอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในระเบียบแล้ว จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบกรมตำรวจ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้นับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3221/2546 ของศาลอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์