แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีเจ้าพนักงานร่วมกันเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าวแต่เป็นราษฎรจึงเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตของเจ้าพนักงานดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะยกฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ร่วมเป็นตัวการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 157, 161, 264, 265, 266, 268, 341
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 157 ประกอบมาตรา 86 (ที่ถูก มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86), 265, 268 วรรคสอง (ที่ถูกวรรคแรก) ประกอบมาตรา 265, 341 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 83 ด้วย) การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และอยู่กินกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2539 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เดินทางไปจดทะเบียนสมรสกัน ณ ที่ว่าการอำเภอองครักษ์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้บันทึกรายละเอียดของการสมรสลงในทะเบียนสมรสและในทะเบียนสมรสดังกล่าวมีลายมือชื่อบิดามารดาของจำเลยที่ 3 ให้ความยินยอมไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้ไปให้ถ้อยคำต่อนางสาวนัยนา ลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดลพบุรี พร้อมยื่นหลักฐานเอกสารต่าง ๆ รวมถึงใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอองครักษ์ เพื่อขอรับเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในฐานะครอบครัวที่ 2 ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 600,000 บาท โดยผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังกล่าวต้องมีสภาพเป็นครอบครัวก่อนวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 นางสาวนัยนาบันทึกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไว้ในแบบการไต่สวนโดยมีจำเลยที่ 3 และนางวิลัย ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ต่อมามีการตรวจพบพิรุธเกี่ยวกับเอกสารใบสำคัญการสมรสของผู้ขอรับเงินชดเชยพิเศษดังกล่าวหลายรายการรวมถึงกรณีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จึงมีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่าใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเอกสารปลอม เนื่องจากถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลข พ.ศ. จาก พ.ศ.2540 เป็น 2536 เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์การรับเงินชดเชยพิเศษและลายมือชื่อบิดามารดาของจำเลยที่ 3 ในทะเบียนสมรสเป็นลายมือชื่อปลอม สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีในส่วนจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการไม่มีความผิดตามฟ้อง ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ว่าในฐานะตัวการร่วมหรือในฐานะผู้สนับสนุนไม่มีความผิดตามฟ้องไปด้วย ขอให้ยกฟ้องนั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่ก็เนื่องมาจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการกระทำความผิดตามฟ้องเกิดขึ้น เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เคยให้การต่อนายระพี นายอำเภอพัฒนานิคม พยานโจทก์ จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 รู้เรื่องที่มีการทำใบสำคัญการสมรสปลอมเป็นอย่างดี นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังนำใบสำคัญการสมรสปลอมดังกล่าวไปยื่นขอรับเงินชดเชยพิเศษจากทางราชการอีกซึ่งหากทางราชการหลงเชื่อแล้ว จำเลยที่ 2 ก็จะได้รับเงินชดเชยพิเศษเป็นเงิน 600,000 บาท พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการปลอมเอกสารราชการ ใช้เอกสารราชการปลอมและพยายามฉ้อโกงแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้เป็นผู้ยื่นขอรับเงินชดเชยพิเศษ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 3 เดินทางไปกับจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งในวันที่มีการจดทะเบียนสมรสและวันที่จำเลยที่ 2 ไปให้ถ้อยคำต่อนางสาวนัยนา อีกทั้งได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในแบบการไต่สวนสิทธิด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 มาตั้งแต่ต้น ทั้งจำเลยที่ 3 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ย่อมต้องมีส่วนได้เสียในเงินชดเชยพิเศษที่จำเลยที่ 2 จะได้รับด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดปลอมเอกสารราชการ ใช้เอกสารราชการปลอมและพยายามฉ้อโกงมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เห็นว่า การที่จะไม่มีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุนต้องเป็นกรณีที่ไม่มีตัวการกระทำความผิดในความผิดดังกล่าว แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งหากไม่มีเจ้าพนักงานร่วมกระทำความผิดแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้เนื่องจากบิดามารดาของจำเลยที่ 3 ไม่ได้เดินทางไปให้ความยินยอม ทั้งใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการแก้ไขเลข พ.ศ. แสดงว่าจะต้องมีเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตในการกรอกข้อความลงในทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสเพื่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเอกสารปลอมดังกล่าวไปยื่นขอรับเงินชดเชยพิเศษจากทางราชการแล้ว มิใช่เป็นกรณีที่ไม่มีตัวการในการกระทำความผิดตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังที่วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นราษฎรจึงเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการต่อมาว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า มีราษฎรที่ใช้เอกสารใบสำคัญการสมรสในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก 7 ราย จึงน่าเชื่อว่ามีบุคคลไปชักชวนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสต่อทางราชการโดยอ้างว่าสามารถนำไปรับเงินชดเชยพิเศษได้ แล้วเรียกส่วนแบ่งจากเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้รับจากทางราชการตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ปากคำไว้ในชั้นสอบสวน โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ทราบความจริง มีลักษณะเป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบจากราษฎรอื่นว่าความจริงแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังกล่าวเพราะสมรสภายหลังกำหนดเวลาซึ่งเป็นเงื่อนไขของทางราชการ จำเลยที่ 2 จึงยื่นขอถอนคำร้องขอรับเงินชดเชยพิเศษจากทางราชการเอง เป็นเหตุให้รัฐไม่ต้องเสียหายจากการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิจะได้รับ นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ภายในกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1