แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุที่รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้สูญหายเกิดจากการกระทำของ ส. ที่ขับรถเข้าไปจอดเพื่อเข้าห้องน้ำโดยไม่ดับเครื่องยนต์จนมีคนลักเอารถไปได้ ซึ่งไม่ว่าการกระทำของ ส. จะเป็นเพียงการประมาทเลินเล่อหรือถึงขนาดเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มิใช่การกระทำของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยโดยตรง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง และเมื่อธนาคาร ธ. ผู้รับประโยชน์ใช้สิทธิฟ้องบังคับโจทก์กับพวกให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์กับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไปแล้วโดยไม่ใช้สิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย อันมีผลทำให้โจทก์ยังคงเสียหายโดยไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย ดังนี้ โจทก์ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้โดยตรงตามสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันภัย 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระค่าเสียหายแก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) แทนโจทก์ คือ ค่าขาดประโยชน์ 27,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 407,000 บาท นับถัดจากวันที่ธนาคารดังกล่าวฟ้องโจทก์ คือ วันที่ 6 มีนาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันที่ 6 มีนาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ไม่เกิน 6 เดือน และค่าทนายความ 5,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.315/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 สิงหาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) แทนโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ปรากฏตามสำนวนว่าจำเลยยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งคำร้องพร้อมฎีกาไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งหากศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจะสั่งรับฎีกาเอง ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 7 ประกอบกับข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ข้อ 41 วรรคหนึ่ง โดยศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งรับฎีกาแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาจึงไม่ชอบตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคจึงมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลย
คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคจะพิจารณาต่อไปตามคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า เหตุที่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้เอาประกันภัยด้วย เนื่องจากโจทก์มอบรถยนต์คันนี้ให้นายสุวิทย์ บุตรโจทก์ครอบครองดูแลทั้งที่ก่อนเกิดเหตุนายสุวิทย์มีพฤติการณ์ครอบครองและใช้รถยนต์คันนี้โดยประมาทเลินเล่อ เคยขับรถยนต์คันนี้ไปเกิดเหตุทำให้รถยนต์เสียหายมาแล้ว จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคหนึ่ง นั้น ไม่มีลักษณะเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัย ไม่มีเหตุที่ควรอนุญาตให้ฎีกาในข้อนี้ และที่จำเลยฎีกาในข้อนี้ด้วยว่านายสุวิทย์เป็นผู้ที่ร่วมชำระค่าเช่าซื้อและค่าเบี้ยประกันภัยกับโจทก์ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้ ฎีกาส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคและไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่อาจรับไว้วินิจฉัยได้ ส่วนฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า เมื่อธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยไม่ขอรับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแล้ว โดยได้ใช้สิทธิฟ้องโจทก์กับพวกให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์คันนี้ และชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างธนาคารดังกล่าวกับโจทก์คดีนี้จนศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้ตามคำฟ้องดังกล่าวแล้ว ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 315/2552 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในคดีดังกล่าวให้แก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) แทนโจทก์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามาซึ่งทำให้เป็นการชำระเงินที่สูงกว่ามูลหนี้ที่แท้จริงนั้น เห็นว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาเห็นสมควรต้องวินิจฉัย จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาและมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาตามฎีกาข้อสุดท้ายดังกล่าวนี้เท่านั้น ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นนอกจากนี้ไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกา
เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประกอบกับมีการส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์และโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกามาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้อดังกล่าวไปพร้อมกันนี้ด้วย โดยปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคว่า เหตุที่รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้สูญหายเกิดจากการกระทำของนายสุวิทย์ที่ขับรถยนต์เข้าไปจอดเพื่อเข้าห้องน้ำโดยไม่ดับเครื่องยนต์จนมีคนลักเอารถยนต์ไปได้ ซึ่งไม่ว่าการกระทำของนายสุวิทย์ดังกล่าวจะเป็นการกระทำเพียงประมาทเลินเล่อหรือถึงขนาดเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม แต่การกระทำของนายสุวิทย์นี้มิใช่การกระทำของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยโดยตรง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคหนึ่ง และเมื่อธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้รับประโยชน์ใช้สิทธิฟ้องบังคับโจทก์คดีนี้กับพวกให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์กับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไปแล้ว โดยไม่ใช้สิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย อันมีผลทำให้โจทก์ยังคงเสียหายโดยไม่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย ดังนี้โจทก์ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้โดยตรงตามสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย ทั้งตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์ ข้อ 1 ระบุว่า ให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันภัย 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 440,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคควรพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในส่วนที่ขอบังคับในคำขอข้อนี้แก่โจทก์โดยตรง มิใช่พิพากษาบังคับให้ชำระแก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) แทนโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามา นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอบังคับในข้อนี้เป็นเงิน 440,000 บาท เท่ากับวงเงินประกันภัยนั้น ก็ปรากฏตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดี ผบ. 315/2552 ให้โจทก์กับพวกในคดีดังกล่าวคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 380,000 บาท แก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีดังกล่าวตามสัญญาเช่าซื้อ เช่นนี้ย่อมฟังได้ยุติตามคำฟ้องว่า ความเสียหายที่แท้จริงจากการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยมีเพียงไม่เกิน 380,000 บาท เท่านั้น และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง (2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย (3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ แต่ในคดีนี้ตามคำฟ้องไม่มีประเด็นตามมาตรา 877 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) ดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดเพียงเพื่อความเสียหายอันแท้จริงจากการที่รถยนต์ที่รับประกันภัยสูญหาย ซึ่งย่อมมีจำนวนเพียง 380,000 บาท เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน 440,000 บาท ไปตามวงเงินประกันภัยโดยไม่ได้วินิจฉัยแสดงเหตุผลว่าเหตุใดจึงควรให้จำเลยชำระเป็นเงินจำนวนดังกล่าวที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคหนึ่ง (1) เป็นการไม่ชอบ ดังนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ