คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์โดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในตึกพิพาท ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟัองว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่ง มีจำเลยที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และร่วมกันถือกรรมสิทธิ์ตึกพิพาท จำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2ทำหนังสือสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์ทั้งสอง มีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี หลังครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 3 ขอเช่าตึกพิพาทต่ออีก 1 ปีขอชำระค่าเช่าในอัตราเดิมโดยสัญญาว่าจะนำค่าเช่าล่วงหน้า 300,000บาท มาชำระให้โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 3 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองตามกำหนด โจทก์ทั้งสองมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 3 นำเงินค่าเช่ามาชำระแก่โจทก์ทั้งสองภายใน10 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ มิฉะนั้นถือว่าสัญญาเช่าเป็นอันระงับสิ้นสุดลง และโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 เช่าตึกพิพาทเพื่อประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป จำเลยที่ 3ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วเพิกเฉย สัญญาเช่าจึงสิ้นสุดลง แต่จำเลยทั้งสามกับบริวารยังคงครอบครองใช้ตึกพิพาทประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์อยู่ตลอดมาจนบัดนี้ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าอัตราค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท คิดค่าเสียหายจนถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 150,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากตึกพิพาท และส่งมอบให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟัองจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 25,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปและส่งมอบตึกพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์ทั้งสองที่จำเลยที่ 3 เช่าตึกพิพาทกับโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวของจำเลยที่ 3จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากตึกแถวพร้อมส่งมอบตึกดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่ปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 25,000บาท แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปและส่งมอบตึกดังกล่าวคืนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกวินิจฉัยว่า “โจทก์ที่ 1 เบิกความประกอบสัญญาเช่าตึกพิพาทเอกสารหมาย จ.3 และภาพถ่ายหมาย จ.4 ถึง จ.6 ว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทแล้ว จำเลยที่ 3 ใช้ตึกพิพาทเป็นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2ประกอบกิจการเดินรถโดยสารรับส่งผู้โดยสารในสายเหนือ และปรากฏตามภาพถ่ายตึกพิพาทหมาย จ.5 มีป้ายชื่อของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ตามยาวหน้าตึกพิพาททั้งจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ว่า ตึกพิพาทมิได้ประกอบการค้าขาย แต่ใช้ประโยชน์ในการขายตั๋วรถโดยสารของจำเลยที่ 2 และปัจจุบันนี้จำเลยที่ 2ก็ยังขายตั๋วโดยสารอยู่ที่ตึกพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น นายธาดาหุตะมาน พยานจำเลยซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ผู้หนึ่งเบิกความตอบคำถามค้านว่า ตามภาพถ่ายหมาย จ.5 ป้ายที่ศาล (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) ทำเครื่องหมายดอกจันไว้เป็นป้ายที่มีข้อความว่า สถานที่จำหน่ายตั๋วรถร่วม บ.ข.ส. บริษัทจำเลยที่ 1 ติดอยู่บนตึกพิพาทและรถของจำเลยที่ 1 ที่จอดอยู่บริเวณตึกพิพาทเป็นรถที่ใช้สำหรับรับส่งผู้โดยสารไปขึ้นรถปรับอากาศที่สถานีขนส่งสายเหนือตลาดหมอชิตซึ่งเป็นการเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในตึกพิพาท แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทเอกสารหมาย จ.3 โดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ตามก็ต้องถือว่า จำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share