คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7340/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่มีอายุหลายปี โดยสภาพถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แม้โจทก์จะอ้างว่าปลูกไว้เพื่อตัดขาย เป็นการปลูกลงในพื้นดินเป็นการชั่วคราว แต่ก็จะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 3 ถึง 5 ปี จึงจะตัดฟันนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากตัดฟันแล้วตอที่เหลือก็จะแตกยอดเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี ก็จะเจริญงอกงามเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลานานตลอดไป หาใช่ปลูกแล้วตัดฟันใช้ครั้งเดียวก็สิ้นสุด ฉะนั้น ต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะเข้าปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยสุจริต ก็หาอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐไม่ และต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ฉะนั้น หากให้โจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสไปในระหว่างพิจารณา ภายหลังจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ จึงสมควรที่จะสั่งห้ามไม่ให้โจทก์เข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว
การขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอระหว่างพิจารณาได้ หากเห็นว่าการกระทำของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะทำให้ตนได้รับความเสียหายหากภายหลังตนชนะคดี กฎหมายหาได้บัญญัติว่าหากผู้ขอเป็นฝ่ายจำเลยจะต้องฟ้องแย้งดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องและห้ามกระทำการใดอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองระงับงดเว้นการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การเป็นสาระสำคัญว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ห้ามโจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ห้ามโจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าครอบครองและปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทและจะเข้าทำการตัดต้นไม้ดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างพิจารณาหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกในที่ดินพิพาทไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เพราะโจทก์ปลูกเพื่อตัดขายเป็นการปลูกลงในที่ดินเป็นการชั่วคราว และโจทก์เข้าปลูกโดยสุจริตจึงมีสิทธิในต้นยูคาลิปตัสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 , 1313 , 1314 และมาตรา 1316 นั้น เห็นว่า ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นไม้ที่มีอายุหลายปี โดยสภาพถือว่าเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะอ้างว่าปลูกไว้เพื่อตัดขาย เป็นการปลูกลงในพื้นดินเป็นการชั่วคราวแต่โจทก์ก็รับว่า จะต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 3 ถึง 5 ปี จึงจะตัดฟันนำไปใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากตัดฟันแล้วตอที่เหลือก็จะแตกยอดเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำต้นใหม่ หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี ก็จะเจริญงอกงามเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้เพื่อใช้ประโยชน์เป็นช่วงระยะเวลานานตลอดไปหาใช่ปลูกแล้วตัดฟันใช้ครั้งเดียวก็สิ้นสุด อันจะทำให้ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินชั่วคราวดังที่โจทก์อ้าง ฉะนั้น ต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแม้โจทก์จะเข้าปลูกต้นยูคาลิปตัสโดยสุจริต ก็หาอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐแต่อย่างใดไม่และต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทที่โจทก์ปลูกย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ฉะนั้น หากให้โจทก์ตัดต้นยูคาลิปตัสไปในระหว่างพิจารณา ภายหลังจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ จึงสมควรที่จะสั่งห้ามไม่ให้โจทก์เข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ฟ้องแย้ง จึงไม่มีสิทธิร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณานั้นเห็นว่า การขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างพิจารณาได้ หากเห็นว่าการกระทำของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะทำให้ตนได้รับความเสียหายหากภายหลังตนเป็นฝ่ายชนะคดี กฎหมายหาได้บัญญัติว่า หากผู้ขอเป็นฝ่ายจำเลยจะต้องฟ้องแย้งดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน.

Share