คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภายหลังจากวันที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 แล้ว ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 ออกใช้บังคับ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้บุคคลที่มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครองซึ่งเป็นความผิดมาแต่ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด สามารถนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ภายในกำหนด 90 วันโดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ จึงเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต้องใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 บังคับแก่การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งยังจับกุมไม่ได้ ได้ร่วมกันสะสมอาวุธและมีอาวุธปืนกลแบบ 93 จำนวน 2 กระบอก ลำกล้องปืนต่อสู้อากาศยาน4 ลำกล้อง อาวุธปืนเอ็ม 72 จำนวน 50 กระบอก กระสุนปืนกลแบบ 93 จำนวน96 นัด ฐานยิงของปืนต่อสู้อากาศยาน 3 ฐาน อันเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้แต่ในการสงครามไว้ในครอบครอง ทั้งนี้เพื่อกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือมิฉะนั้น เพื่อร่วมกันยึดอำนาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114, 83พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2501) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ฯลฯ

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 กฎกระทวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2501) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 จำคุกคนละ 8 ปี การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางคำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ยกฟ้องทุกข้อหา

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภายหลังจากวันที่จำเลยได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 ออกใช้บังคับ ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” เป็นผลให้บุคคลที่มีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในความครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดมาแต่ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด สามารถนำของเหล่านั้นมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดยิ่งกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด กรณีจำต้องใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 บังคับแก่การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรกจึงถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share