คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานชักลากไม้สักมีอายุความ 5 ปีนับแต่วันชักลาก เมื่อความผิดขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว โทษฐานริบทรัพย์ก็ขาดอายุความตามไปด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานตรวจพบไม้สักอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้ง ๓ ซึ่งเป็นไม้สักที่ยังไม่ได้เสียค่าตอและภาษี โดยไม่มีดวงตราอนุญาตของเจ้าพนักงานขอให้ลงโทษ.
ศาลชั้นต้นฟังว่า นางเอี้ยง นางพวง ได้เอาไม้สักนี้ทำเป็นเขื่อนมากว่า ๕ ปีแล้วไม่ได้ชักลาก และนายกุนชักลากเมื่อ ๗ ปีมานี้ คดีจึงขาดอายุความตามกฎหมายลักษระอาญามาตรา ๗๘ (๓) โดยอายุความเริ่มนับแต่วันชักลากไม้ออกจากป่าสำเร็จแล้ว และตามพระราชบัญญัติป้องกันการลักลอบชักลากไม้สัก ฯ ศก ๑๑๘ มิได้บัญญัติว่าการมีไม้เป็นผิดแต่มุ่งถึงการชักลากไม้ออกจากป่าซึ่งจะเป็นความผิด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ไม้ของกลางให้ริบเป็นของหลวง.
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ฉะเพาะในเรื่องสิบไม้ของกลาง เพราะเห็นว่าการริบไม้เป็นโทษ เมื่อชี้ขาดว่าจำเลยไม่มีความผิดแล้ว ก็ต้องไม่ริบ แม้จำเลยไม่อุทธรณ์มา ศาลอุทธรณ์ก็ทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบไม้ของกลางนั้นเสีย แต่มีผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า คดียังไม่ขาดอายุความตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๔ -๙๐๕ -๙๐๖/๒๔๗๘
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลล่างทั้ง ๒ ที่ว่าคดีขาดอายุความตามกฎหมายส่วนในข้อที่ว่า ไม้ของกลางควรริบหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การริบทรัพย์เป็นโทษอย่างหนึ่ง ก็เมื่อความผิดฐานชักลากไม้ขาดอายุความแล้ว โทษฐานริบทรัพย์ก็ย่อมต้องขาดอายุความไปด้วย ฉะนั้นไม้ของกลางจึงเป็นของไม่ควรริบ พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์.

Share