แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 50/4 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่พิพาท คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของ ช. และจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทของ ช. ส่วนจำเลยคดีนี้กับพวกรวม 5 คน ก็เคยฟ้องโจทก์ขอแบ่งที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันนี้และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ยกฟ้อง โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของ ช. ซึ่งได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคนและทายาททุกคนเข้าครอบครองที่ดินมรดกที่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นของตนแล้ว จำเลยคดีนี้กับพวกจึงไม่มีสิทธิขอแบ่งอีก ดังนี้ กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 146 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า ซึ่งคดีนี้ก็คือคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ถูกงดเสียโดยคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ย่อมอาศัยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าวซึ่งผูกพันโจทก์จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาฟ้องบังคับตามสิทธิของตนได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ซ้ำกับคดีแพ่งเรื่องก่อนที่โจทก์เคยฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นปี 2532 จำเลยได้เข้าบุกรุกปลูกสร้างบ้านเลขที่ 50/4 หมู่ที่ 5 ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 20740 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ของโจทก์ทั้งสองบางส่วน ยาว 18 เมตร กว้าง 12 เมตร โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยเพิกเฉย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยกับพวกรวม 5 คน ฟ้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสองว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางช่วงและทายาทต่างเข้าครอบครองเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยกับพวกรวม 5 คน จึงไม่มีสิทธิรับมรดกในที่ดินดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9248/2538 โจทก์ทั้งสองจึงให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าว จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย หากนำที่ดินดังกล่าวไปให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 111,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 50/4 หมู่ที่ 5 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20740 ของโจทก์ทั้งสอง และให้ชำระเงิน 111,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนบ้านเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นข้อหาเดียวกันเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท หาใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองไม่คดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยอีกเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 หรือไม่
ในวันนัดชี้สองสถานคู่ความแถลงรับว่า ที่ดินพิพาทคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 และ ที่ 344/2534 ของศาลชั้นต้น สำหรับค่าเสียหายให้ศาลวินิจฉัยตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 50/4 หมู่ที่ 5 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20740 และให้ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเดือนละ1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารไปจากที่ดินดังกล่าวเสร็จสิ้น คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเคยฟ้องให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 50/4 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20740 และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องต่อไป ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 533/2536 ให้ยกฟ้องโดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของนางช่วงจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทนางช่วง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ นอกจากนี้จำเลยกับพวกรวม 5 คน เคยฟ้องโจทก์ขอแบ่งที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 344/2534 ของศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9248/2538 ให้ยกฟ้อง โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของนางช่วงซึ่งได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคนและทายาททุกคนเข้าครอบครองที่ดินมรดกที่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นของตนแล้วจำเลยคดีนี้กับพวกไม่มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทอีก หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงรับในคดีนี้ว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องทั้งสามคดีเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 หรือไม่ เห็นว่า แม้จะมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางช่วง จำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทนางช่วง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ แต่ต่อมาก็ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 344/2534 ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางช่วงที่มีการแบ่งปันกันแล้วโจทก์ทั้งห้า (คือจำเลยคดีนี้กับพวก)ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งอีก กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า ซึ่งคดีนี้ก็คือคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 344/2534 ดังนั้น ถือได้ว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533 ได้ถูกงดเสียโดยคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 344/2534 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมอาศัยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าวซึ่งผูกพันโจทก์จำเลยมาฟ้องบังคับตามสิทธิของตนได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 451/2533
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น