แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร4 ชั้น ซึ่งขัดต่อมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และแม้จำเลยจะเข้าใจโดยสุจริตหรือสำคัญผิดว่าได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นก็ตาม อาคารที่จำเลยก่อสร้างก็ยังเป็นอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตแต่ได้รับโอนมาเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้จำเลยมีอำนาจดำเนินการก่อสร้างให้ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตต่อไปได้อีก และจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นจากภาระหน้าที่ในการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตนั้นหาได้ไม่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารและได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารเพราะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้อันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนและถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารและให้รื้อถอนอาคารด้วยการก่อสร้างอาคารต่อไปและงดเว้นไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันจำเลยประสงค์ต่อผลซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ซึ่งจำเลยต้องรื้อถอนอาคารบางส่วนก็ตาม แต่จำเลยมิได้ดำเนินการรื้อถอน และยังคงฝ่าฝืนต่อไป กรณีเช่นนี้หาทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดไม่
จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่ผิดจากรายการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมหนึ่งแล้ว ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นเมื่อจำเลยทราบคำสั่งแล้วกระทำการก่อสร้างต่อไปเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเกิดขึ้นเมื่อจำเลยทราบคำสั่งแล้วงดเว้นไม่ยอมรื้อถอนอาคารภายในเวลาที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง
แม้การปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลย คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้
เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 ทวิ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้ จึงต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาปรับใช้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเริ่มแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องย่อมนับถัดจากวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จ กรณีหาใช่ความผิดต่อเนื่อง และหาใช่อายุความยังไม่เริ่มนับตราบใดที่จำเลยยังคงฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่ไม่
ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเริ่มเกิดเป็นความผิดขึ้นนับแต่วันที่ฝ่าฝืนไม่ยอมรื้อถอนอาคาร และเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ยอมรื้อถอนอาคาร เมื่อจำเลยยังฝ่าฝืนอยู่ตลอดมาอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ
กรณีที่มีทั้งระวางโทษที่กำหนดและโทษรายวัน การที่จะพิจารณาว่าศาลใดลงโทษสูงต่ำกว่ากัน ต้องพิจารณาลักษณะของโทษแยกกัน
ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกและปรับ กับปรับรายวันวันละ 200 บาท จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว และศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับและปรับรายวันวันละ 500 บาท ย่อมเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารและผู้ครอบครองอาคารได้จัดให้มีและดำเนินการก่อสร้างอาคารเพื่อพักอาศัย โดยจำเลยก่อสร้างอาคารจำนวน 5 ชั้น ทั้งที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเพียง 4 ชั้น อันเป็นการผิดจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และมิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบการกระทำผิดของจำเลยจึงได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างชั้นที่ 5 ของอาคารดังกล่าว กับให้รื้อถอนอาคารชั้นที่ 5นั้นภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งและแจ้งให้จำเลยทราบโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและปิดประกาศคำสั่ง ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำผิด และจำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 แต่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยยังดำเนินการก่อสร้างอาคารชั้นที่ 5ต่อไปตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 จนอาคารดังกล่าวก่อสร้างเสร็จเป็นอาคาร 5 ชั้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2535 รวมเป็นเวลา 12 วัน (ไม่รวมวันเสาร์และวันอาทิตย์) อีกทั้งเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งโดยชอบ จำเลยยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยรื้อถอนชั้นที่ 5 ของอาคารข้างต้น และมิได้อยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2535 จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเวลา 613 วัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 66 ทวิ, 67, 71พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 11, 23, 24, 25ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กับให้ปรับจำเลยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 66 ทวิ, 67, 71 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษเป็นรายกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการก่อสร้าง จำคุก 4 เดือน และปรับ 40,000 บาทกับปรับรายวันตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งอีกวันละ 200 บาท เป็นเวลา 12 วัน เป็นเงิน2,400 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร จำคุก 4 เดือน และปรับ40,000 บาท กับให้ปรับรายวันอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่เริ่มฝ่าฝืนคำสั่งจนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวเสร็จสิ้น โดยคำนวณวันที่เริ่มฝ่าฝืนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 613วัน คิดเป็นค่าปรับ 122,600 บาท รวมเป็นจำคุก 8 เดือน และปรับคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 205,000 บาท โทษจำคุกจำเลยให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 65, 67 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการก่อสร้าง ให้ลงโทษตามมาตรา 67 ปรับวันละ 500 บาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนรวมเป็นเวลา 12 วัน เป็นเงิน 6,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร ให้ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ปรับ 5,000บาท และให้ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง ปรับเป็นรายวันอีกวันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มฝ่าฝืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 613 วัน เป็นเงิน306,500 บาท กับให้ปรับอีกวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารแล้วเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันและมิได้โต้เถียงกันว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อพักอาศัยจำนวน 5 ชั้น แต่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารจำนวน 4 ชั้น อันเป็นการผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและมิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง ต่อมาวันที่ 13พฤศจิกายน 2535 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารชั้นที่ 5 และให้รื้อถอนอาคารชั้นที่ 5 ดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับคำสั่งคือวันที่25 พฤศจิกายน 2535 แต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 จำเลยยังคงก่อสร้างอาคารชั้นที่ 5ต่อไปจนแล้วเสร็จในวันที่ 11 ธันวาคม 2535 เป็นเวลา 12 วัน และพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารคือวันที่ 26 ธันวาคม 2535 จำเลยก็ยังคงฝ่าฝืนไม่ยอมรื้อถอนอาคารนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 613 วัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตซึ่งขัดต่อมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และแม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ดังที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าใจโดยสุจริตหรือสำคัญผิดว่าได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นก็ตาม อาคารตามฟ้องก็ยังเป็นอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ชัดว่าแม้จำเลยจะมิใช่ผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตแต่ได้รับโอนมาเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้จำเลยมีอำนาจดำเนินการก่อสร้างให้ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตต่อไปได้อีกหรือจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นจากภาระหน้าที่ในการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนอาคารที่ผิดรายการที่ได้รับอนุญาตนั้นหาได้ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารและได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารเพราะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ จึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนและถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย และการที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารและให้รื้อถอนอาคารด้วยการก่อสร้างอาคารต่อไปและงดเว้นไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันจำเลยประสงค์ต่อผลซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา เป็นอันครบองค์ความผิดตามกฎหมาย แม้จำเลยจะอ้างว่าต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามรายการตามเอกสารหมาย ล.3 ก็ตาม จำเลยก็ยังคงต้องรื้อถอนอาคารบางส่วนแต่จำเลยมิได้ดำเนินการรื้อถอนแต่อย่างใด หากยังคงฝ่าฝืนต่อไป กรณีเช่นนี้หาทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดไม่ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (กฎหมายฉบับเดิม) มาตรา 40, 42, 65 และ67 ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารที่ผิดจากรายการที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งก็เป็นความผิดกรรมหนึ่ง ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นเมื่อจำเลยทราบคำสั่งแล้วกระทำการก่อสร้างต่อไปเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเกิดขึ้น เมื่อจำเลยทราบคำสั่งแล้วงดเว้นไม่ยอมรื้อถอนอาคารภายในเวลาที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งโดยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 และตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม2535 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวันเวลาที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ใช้บังคับแล้ว โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปแม้การปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยนี้ คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้และเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง จึงให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 40(1) และมาตรา 66ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 42
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 30 วรรคสอง หรือฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 40มาตรา 44 หรือมาตรา 45 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง”
และมาตรา 66 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 42 โดยมิได้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น” บทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้ จึงต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาปรับใช้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 และกรณีคดีนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้ห้าปีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเริ่มแต่วันที่จำเลยได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จกล่าวคือเริ่มแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2535อายุความคือนับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2535 หาใช่ความผิดต่อเนื่อง อายุความยังไม่เริ่มนับตราบใดที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 จึงยังไม่เกินกำหนดอายุความห้าปี และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเริ่มเกิดเป็นความผิดขึ้นนับแต่วันที่ฝ่าฝืนไม่ยอมรื้อถอนอาคารคือตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2535 และเป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ยอมรื้อถอนอาคาร ซึ่งปรากฏว่าจำเลยยังฝ่าฝืนอยู่ตลอดมาอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ ดังนั้น คดีโจทก์ทั้งสองฐานความผิดจึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับการกำหนดโทษ เห็นว่า กรณีที่มีทั้งระวางโทษที่กำหนดและโทษรายวัน การที่จะพิจารณาว่าศาลใดลงโทษสูงต่ำกว่ากัน ต้องพิจารณาลักษณะของโทษแยกกันดังจะเห็นได้จากกรณีถ้าพิจารณาโทษโดยรวมไม่แยกพิจารณาผลก็จะเป็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกและปรับ กับปรับรายวันวันละ 200 บาท ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับและปรับรายวันวันละ 500 บาท ศาลอุทธรณ์ลงโทษในสถานเบากว่า ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้และต้องลงโทษปรับรายวันนานหลายปี โทษปรับโดยรวมของศาลอุทธรณ์จะสูงกว่าศาลชั้นต้น จึงเห็นได้ว่าการแยกพิจารณาตามลักษณะของโทษน่าจะถูกต้อง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับรายวันแก่จำเลยวันละ 500 บาทย่อมเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 40(1) และมาตรา 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 42 เป็นความผิดหลายกรรมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษตามมาตรา 67 วรรคสองประกอบมาตรา 40(1) ปรับวันละ 200 บาท เป็นเวลา 12 วัน เป็นเงินค่าปรับ 2,400บาท ลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 42 ปรับ 5,000 บาท และลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 42 ปรับรายวันอีกวันละ 200 บาทนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 613 วัน เป็นเงินค่าปรับ 122,600บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์