คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7319/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำยินยอมคำขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ข้อ 3 และข้อ 4 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารนำเงินที่ข้าพเจ้านำเข้าฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักทอนยอดหนี้ที่เกิดขึ้นตามกล่าวในข้อ 3 หรือหนี้ลักษณะอื่นใดที่ข้าพเจ้ามีอยู่กับธนาคารได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้า” ซึ่งข้อ 3 มีข้อความว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้าให้คำยินยอมหรือมอบอำนาจให้แก่ธนาคารหรือได้สั่งการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ธนาคารหักเงินจากบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารหรือบุคคลอื่น เช่น รายการชำระหนี้ตามบัตรเครดิต … เป็นต้น ถ้าหากธนาคารได้ผ่อนผันการจ่ายเงินเกินบัญชีไป ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินคืนธนาคารโดยถือเสมือนว่าข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราสูงสุดที่ธนาคารได้มีประกาศกำหนด..” โดยไม่ปรากฏข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำหนี้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์มาหักจากเงินฝากในบัญชีของโจทก์ได้ อีกทั้งตามคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์ โจทก์ตกลงชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตด้วยการให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 170-0-09210-7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากอื่นของโจทก์ได้อีก ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำเงินฝากจากบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เลขที่ 230-0-38370-6 มาหักชำระหนี้บัตรเครดิตได้ และจำเลยที่ 1 ก็มิอาจนำเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักกลบลบหนี้บัตรเครดิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกันได้ เนื่องจากในวันที่โจทก์เปิดบัญชีสะสมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 1 ขณะนั้นสิทธิเรียกร้องในหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ได้ขาดอายุความไปแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินต้น 26,566.66 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2545 ถึงวันฟ้อง เป็นดอกเบี้ย 498 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 27,064.66 บาท แก่โจทก์หรือนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ เลขที่ 230 – 0 – 38370 – 6 ของโจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 26,566.66 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์แล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 26,566.66 บาท แก่โจทก์หรือนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 230 – 0 – 38370 – 6 ของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 800 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์เดิมชื่อสุเมธ ต่อมาเปลี่ยนเป็นศิวัช โจทก์ยื่นคำขอใช้บริการบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 และขอใช้บริการบัตรเสริมให้นางจุฑาทิพย์ ภริยาโจทก์ ตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตด้วยการให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 170 – 0 – 09210 – 7 ของโจทก์ สาขาสี่พระยา จำเลยที่ 1 ออกบัตรหมายเลข 0200 – 0100 – 2648 – 1116 ให้แก่โจทก์และออกบัตรหมายเลข 0200 – 0100 – 2648 – 1215 ให้แก่นางจุฑาทิพย์ โจทก์และนางจุฑาทิพย์ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า ค่าบริการ และเบิกถอนเงินสดเรื่อยมา โดยโจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายวันที่ 15 สิงหาคม 2538 หลังจากนั้นโจทก์และนางจุฑาทิพย์ไม่ได้นำบัตรเครดิตไปใช้อีก โจทก์มีหนี้บัตรเครดิตค้างชำระต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มิได้เรียกร้องหรือบังคับให้โจทก์ชำระหนี้ จนกระทั่งหนี้ขาดอายุความ ต่อมาโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 230 – 0 – 38370 – 6 กับจำเลยที่ 1 ที่สาขาโชคชัย 4 และนำเงินฝากเข้าบัญชีจำนวนหนึ่ง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประจำสายบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 ได้นำเงินในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 230 – 0 – 38370 – 6 จำนวน 26,566.66 บาท ไปหักกลบลบหนี้การใช้บัตรเครดิตของโจทก์และนางจุฑาทิพย์อ้างว่าเป็นหนี้ที่โจทก์ค้างชำระและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบในวันเดียวกัน
มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์เลขที่ 230 – 0 – 38370 – 6 มาหักกลบลบหนี้การใช้บัตรเครดิตของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์มาหักกลบลบหนี้บัตรเครดิตของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ได้ตามคำยินยอมในคำขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ ข้อ 3 และข้อ 4 เห็นว่า ตามคำยินยอมในคำขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ ข้อ 4 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารนำเงินที่ข้าพเจ้านำเข้าฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักทอนยอดหนี้ที่เกิดขึ้นตามกล่าวในข้อ 3 หรือหนี้ลักษณะอื่นใดที่ข้าพเจ้ามีอยู่กับธนาคารได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้า” ซึ่ง ข้อ 3 มีข้อความว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้าให้คำยินยอมหรือมอบอำนาจให้แก่ธนาคารหรือได้สั่งการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ธนาคารหักเงินจากบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารหรือบุคคลอื่น เช่น รายการชำระหนี้ตามบัตรเครดิต รายการชำระค่าสาธารณูปโภค… เป็นต้น ถ้าหากธนาคารได้ผ่อนผันการจ่ายเงินเกินบัญชีไป ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินคืนธนาคาร โดยถือเสมือนว่าข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราสูงสุดที่ธนาคารได้มีประกาศกำหนด…” โดยไม่ปรากฏข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำหนี้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ก่อนวันขอเปิดบัญชีสะสมทรัพย์มาหักจากเงินฝากในบัญชีของโจทก์ได้ อีกทั้งตามคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครติตของโจทก์ โจทก์ตกลงชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตด้วยการให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ทรัพย์เลขที่ 170 – 0 – 09210 – 7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีเงินฝากอื่นของโจทก์ได้อีก ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำเงินฝากจากบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เลขที่ 230 – 0 – 38370 – 6 มาหักชำระหนี้บัตรเครดิตได้ และจำเลยที่ 1 ก็มิอาจนำเงินฝากในบัญชีสะสมทรัพย์มาหักกลบลบหนี้บัตรเครดิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกันได้ เนื่องจากในวันที่โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 1 ขณะนั้นสิทธิเรียกร้องในหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ได้ขาดอายุความไปแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท

Share