คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการรักษาชีวิตและร่างกายของบุคคลนั้นเป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมในการเลือกเข้ารักษาชีวิตและร่างกายของตนในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่บุคคลนั้นเชื่อว่าสามารถรักษาชีวิตและร่างกายของบุคคลนั้นให้หายเป็นปกติได้โดยเร็ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีสิทธิที่จะบังคับหรือเจาะจงให้โจทก์ที่ 3 จำต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐอันมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนได้ ทั้งเหตุที่โจทก์ที่ 3 เลือกเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จ. อันเป็นโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุรถชนกันแล้วมีเจ้าหน้าที่มูลนิธินำตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จ. มิใช่เป็นการที่โจทก์ที่ 3 จะใช้สิทธิเลือกเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยตนเอง แม้ต่อมาภายหลังโจทก์ที่ 3 จะได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ธ. อันเป็นโรงพยาบาลเอกชนเช่นเดียวกัน ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ในการเลือกโรงพยาบาลที่โจทก์ที่ 3 เชื่อว่าสามารถรักษาร่างกายและชีวิตของตนได้ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 3 เอาเปรียบจำเลยที่ 2 และที่ 4 อย่างใด
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าเสียหายจากจำเลยร่วมคนละ 10,000 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับเงินค่าเสียหายจากโจทก์ร่วมคนละ 85,000 บาท จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษา และเมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 736,451 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 685,071 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกบริษัทคุ้มเกล้าประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทคุ้มเกล้าประกันภัย จำกัด(มหาชน) ได้หากศาลพิพากษาให้แพ้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกบริษัทคุ้มเกล้าประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
ระหว่างสืบพยาน โจทก์ทั้งสี่ขอถอนฟ้องจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยร่วมได้ และให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยร่วมออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 3,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถยนต์จำนวน 7,370 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายเป็นค่าโดยสารรถยนต์ไปทำงาน รวมกันเป็นเงินจำนวน 24,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องรวมกันเป็นเงินจำนวน 110,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องรวมกันเป็นเงินจำนวน 330,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลรวมกันเป็นเงิน 60,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 3 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายสำหรับในส่วนค่ารักษาพยาบาลต่อโจทก์ที่ 3 เพียงใด จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โจทก์ที่ 3 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีราคาสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐมาก โดยไม่คำนึงว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเพียงใด เป็นการเอาเปรียบจำเลยที่ 2 และที่ 4 เห็นว่า สิทธิในการรักษาชีวิตและร่างกายของบุคคลเป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมในการเลือกเข้ารักษาชีวิตและร่างกายของตนในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่บุคคลเชื่อว่าจะสามารถรักษาชีวิตและร่างกายของบุคคลให้หายเป็นปกติได้โดยเร็ว เมื่อเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 3 ถูกกระทบสิทธิในร่างกายเกิดจากเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดในผลนั้นแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีสิทธิที่จะบังคับหรือเจาะจงให้โจทก์ที่ 3 จำต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐอันอาจมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา ทั้งเหตุที่โจทก์ที่ 3 เลือกเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬารัตน์ อันเป็นโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุแล้วมีเจ้าหน้าที่มูลนิธินำตัวโจทก์ทั้งหมดไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ มิใช่เป็นการที่โจทก์ที่ 3 จะใช้สิทธิเลือกเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยตนเองแม้ต่อมาภายหลังโจทก์ที่ 3 จะได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรีอันเป็นโรงพยาบาลเอกชนเช่นเดียวกัน ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ในการเลือกโรงพยาบาลที่โจทก์ที่ 3 เชื่อว่าสามารถรักษาร่างกายและชีวิตของตนได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 3 เอาเปรียบจำเลยที่ 2 และที่ 4 อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ในส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสมองของโจทก์ที่ 3 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดขึ้นจากเหตุละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายในส่วนนี้ โจทก์ที่ 3 จะมิได้นำใบรับรองแพทย์หรือแพทย์ผู้รักษา มาแสดงหรือเบิกความยืนยันว่าการผ่าตัดสมองเป็นการรักษาอาการร่างกายซีกซ้ายที่ไร้ความรู้สึกของโจทก์ที่ 3 อันเป็นเหตุมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 3 ก็ได้อ้างตนเองเข้าเบิกความยืนยัน อาการบาดเจ็บของโจทก์ที่ 3 เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในเหตุรถยนต์ชนกันโดยทุกวันนี้ยังไม่เป็นปกติดีแม้จะเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วนานถึง 2 ปีเศษ ประกอบกับโจทก์ที่ 3 มีใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลมาสนับสนุนยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งรายการค่าใช้จ่ายตามเอกสารเป็นการรักษาอาการบาดเจ็บของโจทก์ที่ 3 และสามารถตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของโจทก์ที่ 3 ได้โดยง่าย เมื่อทางนำสืบจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้โต้แย้งว่ารายละเอียดตามใบเสร็จรับเงินไม่ถูกต้องประการใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ที่ 3 นำสืบ เมื่อค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากเหตุละเมิดของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ที่ 3 ชอบที่จะได้รับชดใช้คืนเต็มจำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 300,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ประการต่อมา โจทก์ทั้งสี่ได้รับชำระเงินค่าเสียหายจากจำเลยร่วมบางส่วนแล้ว จะต้องหักเงินดังกล่าวจากจำนวนที่ฝ่ายจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงเป็นยุติโดยไม่โต้แย้งในชั้นฎีกา โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าเสียหายจากจำเลยร่วมคนละ 10,000 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับเงินค่าเสียหายจากจำเลยร่วมคนละ 85,000 บาท จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษา และเมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาโดยมิได้หักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องชำระตามคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคิดหักเงินค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับจากจำเลยร่วมออกด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share