แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลฎีกาพิพากษาว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,974,987.50 บาท แก่เจ้าของ หมายความว่า จำเลยจะต้องโอนที่ดินของเจ้ามรดกที่ได้ยักยอกไปคืนแก่กองมรดกหากการโอนที่ดินไม่อาจกระทำได้ จำเลยจึงต้องใช้ราคาจำนวน4,974,987.50 บาท แก่กองมรดก ไม่ใช่จำเลยมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ และแม้เจ้าของที่ดินจะตายไปแล้ว จำเลยก็จะอ้างมาเป็นเหตุให้ปฏิเสธการโอนที่ดินมรดกคืนแก่กองมรดกไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยักยอกที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ขอให้ลงโทษและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,974,987.50 บาท แก่เจ้าของ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยนำเงิน 4,974,987.50 บาทมาวางต่อศาลชั้นต้นแทนการโอนที่ดินคืนกองมรดก โจทก์ร่วมแถลงคัดค้านว่า อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะโอนที่ดินคืนกองมรดกไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยโอนที่ดินตราจองเลขที่ 88 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกคืนแก่กองมรดก หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาคบังคับคดี
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าจำเลยจะต้องโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยยักยอกคืนกองมรดกหรือไม่ เห็นว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมและตามคำพิพากษาศาลฎีกาใช้ถ้อยคำว่า “ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,974,987.50บาท แก่เจ้าของ” นั้น หมายความว่า จำเลยจะต้องโอนที่ดินของเจ้ามรดกที่ได้ยักยอกคืนแก่กองมรดก หากการโอนที่ดินไม่อาจกระทำได้ เช่น ที่ดินได้ถูกโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้ว หรือมีเหตุอื่นที่ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินนั้นได้ จำเลยจึงต้องใช้ราคาจำนวน4,974,987.50 บาท แก่กองมรดกหาใช่จำเลยมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ไม่ จำเลยเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ดีอยู่แล้วเพราะตามคำแถลงขอคืนเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยนำมาวางศาลไว้ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2536 ก็ได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2536โจทก์ร่วมได้แถลงต่อศาลว่า ต้องการให้จำเลยโอนที่ดินคืนกองมรดกและจำเลยประสงค์จะโอนที่ดินคืนกองมรดก จึงขอรับเงินจำนวน4,974,987.50 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลไว้คืนซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาต แต่ต่อมาภายหลังที่จำเลยรับเงินคืนไปแล้วกลับไม่ยอมโอนที่ดินคืนกองมรดก จนกระทั่งศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้จำเลยโอน ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยไม่สามารถโอนที่ดินกลับคืนแก่เจ้าของได้เพราะเจ้าของเดิมได้ตายไปแล้วและจะให้จำเลยโอนที่ดินคืนกองมรดกก็ไม่ได้เพราะกองมรดกมิใช่ตัวบุคคลหรือนิติบุคคลอันจะรับโอนได้ จึงเป็นเหตุพ้นวิสัยที่จำเลยจะโอนที่ดินมรดกคืนได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นเห็นว่า กรณีดังกล่าวหาใช่ข้ออ้างที่จำเลยจะหยิบยกขึ้นปฏิเสธการโอนที่ดินมรดกคืนแก่กองมรดกไม่ จำเลยจะต้องโอนที่ดินที่จำเลยยักยอกนั้นคืนแก่กองมรดก โดยโอนให้แก่ผู้จัดการของนายเหลืองแซ่เจี่ยหรือแซ่อึ่งหรือผิดพานิช ผู้ตาย ซึ่งปัจจุบันได้แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน