แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซื้อและเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยโดยจำเลยสัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยก็มิได้โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ก็ให้จ่ายเงินมัดจำ เงินงวดค่าเช่าซื้อและคืนเงินค่าโอนทะเบียนรถรวมเป็นเงิน 407,514 บาท แก่โจทก์ และมีคำขอให้บังคับจำเลยโอนทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงิน 50,000 บาท แก่โจทก์แม้จะเรียกว่าค่าเสียหายแต่ก็เป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระเนื่องจากการผิดสัญญาที่ไม่สามารถโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ตามฟ้องนั่นเอง จึงมิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 2 จ-1768 กรุงเทพมหานครจากจำเลยที่ 1 ในราคา 270,000 บาท โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำในวันสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำนวน 90,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะโอนทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 2 และให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตกลงจะโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์และหากเกิดความเสียหายขึ้นก่อนการซื้อขาย จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดชอบ ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2530 จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 2ในราคาเช่าซื้อ 239,400 บาท โดยโจทก์ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 เป็นงวดรายเดือนงวดละ 6,650 บาท รวม 36 งวดเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 ธันวาคม 2530 งวดต่อไปชำระทุกวันที่5 ของเดือนถัดไป และเมื่อชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 2 จะโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ครั้นเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อและเงินค่าโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 2 ไม่จัดการโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 จ-1768 กรุงเทพมหานครแก่โจทก์ หากไม่สามารถจัดการโอนให้ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 407,514 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่นายสมบัติให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมตำรวจเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยร่วมมิใช่คู่สัญญาตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดการโอนทะเบียนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 2 จ-1768 กรุงเทพมหานคร ให้เป็นสิทธิแก่โจทก์ หากไม่สามารถจัดการโอนทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่9 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยร่วม
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ซื้อและค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ (โอนทะเบียน) ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ก็ให้จ่ายเงินมัดจำ เงินงวดค่าเช่าซื้อ และคืนเงินค่าโอนทะเบียนรถรวมเป็นเงิน 407,514 บาท แก่โจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้จึงเป็นที่เห็นได้ว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 50,000 บาท แก่โจทก์นั้นแม้จะเรียกค่าเสียหายแต่ก็เป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเนื่องจากการผิดสัญญาที่ไม่สามารถโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามฟ้องนั่นเอง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาทแก่โจทก์ จึงมิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น