แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมจำเลยทั้งสองตกลงยอมให้ค่าปรับแก่โจทก์ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการปลอดภาระผูกพันในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นก่อนวันอันถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เว้นแต่ภาระจำนองที่จำเลยทั้งสองจะต้องดำเนินการปลอดจำนองในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่จากคำแถลงของโจทก์ได้ความว่าเมื่อถึงวันนัดไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่คู่ความต่างเลื่อนไปในวันที่28ตุลาคม2535จำเลยที่2ไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารการจดทะเบียนนิติกรรมการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่อาจจะกระทำได้โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการปลอดภาระจำนองแต่ประการใดทั้งการที่จำเลยที่2ไม่ยอมลงชื่อในเอกสารการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็ให้สิทธิแก่โจทก์บังคับคดีโดยถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้อยู่แล้วแสดงว่าแม้หากจำเลยที่2ไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารการจดทะเบียนโจทก์ก็สามารถใช้คำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ได้โดยปลอดภาระจำนองตามกำหนดนัดในวันที่28ตุลาคม2535และการบังคับคดีในลักษณะนี้ก็มิใช่เป็นการบังคับคดีที่จะต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงหาจำต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีอีกแต่ประการใดไม่ดังนั้นเพียงการที่จำเลยที่2ไม่ยอมลงชื่อในเอกสารการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่2ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปรับจำเลยทั้งสองได้ การที่โจทก์เพิ่งดำเนินการบังคับคดีชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยทั้งสองแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์เมื่อวันที่10มิถุนายน2536โดยต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารนับแต่วันที่28ตุลาคม2535ถึงวันที่10มิถุนายน2536จึงเท่ากับเป็นการเสียดอกเบี้ยในระหว่างที่โจทก์ผิดนัดไม่ดำเนินการตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จึงไม่มีสิทธิหักดอกเบี้ยส่วนนี้จากเงินที่ต้องชำระแก่จำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยทั้งสองยินยอมส่งมอบการครอบครองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่85346 และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนสิทธิการเช่าโทรศัพท์หมายเลข 5881797 ตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสองโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้นภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 ในชื่อของบุคคลอื่นใดที่โจทก์ทั้งสองจะกำหนดให้เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ และโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินตอบแทนให้จำเลยที่ 1จำนวน 760,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินปลอดภาระผูกพันในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและสิทธิการเช่าโทรศัพท์ให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2535 เว้นภาระจำนองประการเดียวที่จะดำเนินการปลอดจำนองในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยทั้งสองยอมให้ค่าปรับแก่โจทก์ทั้งสอง จำนวน 240,000 บาท ในทันทีโดยให้หักออกจากเงินที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1จำนวน 760,000 บาท และยอมให้โจทก์ทั้งสองบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ทันที โดยถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองต่อเจ้าพนักงานที่ดินและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่29 ตุลาคม 2535 โจทก์ทั้งสองแถลงว่า เมื่อถึงวันที่15 ตุลาคม 2535 เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสองได้เพราะคู่ความไม่ได้นำหลักฐานที่แสดงว่าคดีถึงที่สุด กับสัญญาประนีประนอมยอมความที่เจ้าพนักงานศาลรับรองมาแสดง คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงตกลงขยายเวลากำหนดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปเป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2535 แต่เมื่อถึงกำหนดนัด ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารการจดทะเบียนนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีอ้างว่าตกลงเรื่องเงินที่ซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2536 โจทก์ที่ 2 ยื่นคำแถลงว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการบังคับคดีโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ทั้งสองเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่10 มิถุนายน 2536 ซึ่งโจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายชำระหนี้จำนองของจำเลยทั้งสองที่ค้างชำระแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาแคราย เป็นเงิน376,965.67 บาท ยอดเงินที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำนวน 760,000 บาท หักค่าปรับตามสัญญาออกไป 240,000 บาท หักค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป 376,965.67 บาท และหักค่าฤชาธรรมเนียมศาลส่วนที่ไม่สั่งคืนแก่โจทก์ทั้งสองอีก 9,878.75 บาทคงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับจากโจทก์ทั้งสอง133,155.58 บาท ขอวางเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลเพื่อให้จำเลยทั้งสองรับไป
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ยินยอมจ่ายเงินจำนวน760,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2535 ทำให้จำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองไม่ทันตามสัญญาโจทก์ทั้งสองบ่ายเบี่ยงหาเหตุเลื่อนไปเป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2535 จำเลยทั้งสองไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิปรับจำเลยทั้งสอง ยอดเงินจำนวน 133,155.58 บาทที่โจทก์ทั้งสองนำมาวางศาลไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้นัดไต่สวน
ศาลชั้นต้นนัดพร้อมแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องไต่สวน ให้งดไต่สวนและวินิจฉัยว่า ให้โจทก์นำเงินจำนวน120,000 บาท กับดอกเบี้ยของเงินต้นที่จำเลยค้างชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด แคราย นับแต่วันที่14 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2536มาวางศาลภายใน 25 วัน มิฉะนั้นจะถูกบังคับคดีตามกฎหมาย
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสองหักเงินค่าปรับจำนวน 240,000 บาท จากเงินที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระให้จำเลยทั้งสองจำนวน 760,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3จำเลยทั้งสองตกลงยอมให้ค่าปรับแก่โจทก์ทั้งสองต่อเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการปลอดภาระผูกพันในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองให้เสร็จสิ้นก่อนวันอันถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทั้งสองเว้นแต่ภาระจำนองที่จำเลยทั้งสองจะต้องดำเนินการปลอดจำนองในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ทั้งสองลงวันที่ 29 ตุลาคม 2535 ว่า เมื่อถึงวันนัดไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่คู่ความต่างเลื่อนไปในวันที่ 28 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารการจดทะเบียนนิติกรรม การทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่อาจจะกระทำได้ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการปลอดภาระจำนองแต่ประการใด ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงชื่อในเอกสารการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 นั้น ก็ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองบังคับคดีโดยถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้อยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2535ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2535 ก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์หนึ่งวันและโจทก์ทั้งสองก็สามารถชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ได้เองตามคำแถลงลงวันที่ 21 มิถุนายน 2536 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองต้องลงชื่อในเอกสารการจดทะเบียนแต่อย่างใดแสดงว่าแม้หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารการจดทะเบียน โจทก์ทั้งสองก็สามารถใช้คำพิพากษาตามยอมแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ทั้งสองได้โดยปลอดภาระจำนองตามกำหนดนัดในวันที่ 28 ตุลาคม 2535 และการบังคับคดีในลักษณะนี้ก็มิใช่เป็นการบังคับคดีที่จะต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงหาจำต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีอีกแต่ประการใดไม่ ดังนั้น เพียงการที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงชื่อในเอกสารการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งสองจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 อันจะให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะปรับจำเลยทั้งสองได้ และการที่โจทก์ทั้งสองเพิ่งดำเนินการบังคับคดีชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยทั้งสองแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2536 โดยต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาแคราย นับแต่วันที่28 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2536 จึงเท่ากับเป็นการเสียดอกเบี้ยในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ดำเนินการตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสียเอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิหักดอกเบี้ยส่วนนี้จากเงินที่ต้องชำระแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินค่าปรับ240,000 บาท กับดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2535 จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2536 ซึ่งต้องชำระแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาแคราย จากเงินที่ต้องชำระแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2