คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 60 โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า เงินของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ความผิดมูลฐานที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำของอะไรเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงศุลกากร จนเป็นเหตุให้มีเงินของกลางดังกล่าว การที่จำเลยจะนำเงินของกลางเพื่อออกนอกราชอาณาจักร จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินของกลางอาจเป็นเพียงของที่ใช้ในการกระทำความผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ไม่อยู่ในนิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามความในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ได้เงินของกลางมานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในนิยาม “ความผิดมูลฐาน” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 6, 60 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2098/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานตรวจยึดเงินจากจำเลยเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวน 12 สกุล คิดเป็นเงินไทย 25,602,000 บาท ขณะที่จำเลยบรรจุไว้ในกระเป๋าเดินทางแบบล้อลากเพื่อจะเดินทางโดยสายการบินคาเธย์แปซิฟิก เที่ยวบินที่ ซีเอ็กซ์ 700 จากท่าอากาศยานกรุงเทพไปยังเมืองฮ่องกง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจะมีความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 60 นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความประการแรกว่า เงินของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในกรณีที่โจทก์ฟ้องนี้ คือ ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 3 (7) แต่โจทก์ก็นำสืบได้ความแต่เพียงว่า ก่อนตรวจยึดเงินของกลางจำเลยเดินทางไปเมืองฮ่องกงและประเทศสิงคโปร์รวม 110 ครั้ง เท่านั้น โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำของอะไรเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงศุลกากรจนเป็นเหตุให้มีเงินของกลางดังกล่าว การที่จำเลยจะนำเงินของกลางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักร จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินของกลางอาจเป็นเพียงของที่ใช้ในการกระทำความผิดคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ไม่อยู่ในนิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนการที่จำเลยซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ได้เงินของกลางมานั้น ก็เป็นความผิดต่อกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในนิยาม “ความผิดมูลฐาน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงิน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share