คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7259-7260/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังแล้ว ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้แบ่งที่ดินพิพาทโดยถือทางสาธารณประโยชน์ตามเส้นประสีเหลืองในแผนที่เป็นเส้นแบ่งออกเป็นที่ดินฝั่งเหนือและที่ดินฝั่งใต้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และแผนที่มีรายละเอียดในคำวินิจฉัยและวิธีการแบ่งที่พิพาทโดยชัดแจ้งซึ่งคู่ความสามารถนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแล้วแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้ได้ตามสัดส่วนตามแผนที่ และตามรายละเอียดในคำพิพากษาของศาลฎีกาอยู่แล้ว ดังนั้น ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแผนที่วิวาทให้เป็นไปตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 และแนวเขตทางเดินคอนกรีตตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ตามแผนที่วิวาทขึ้นใหม่นั้นเพื่อหาแนวเส้นประสีเหลืองตามแผนที่อีกครั้ง ถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องเรื่องที่ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วกลับมาเป็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ซึ่งไม่ชอบด้วยวิธีการในชั้นบังคับคดี ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คู่ความร่วมกันนำรังวัดเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแผนที่วิวาทนั้นจึงไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไปนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกจ่าสิบเอกหญิงยุพาว่า โจทก์ที่ 1 นางสำอางค์ ว่า โจทก์ที่ 2 นางปราณี ว่า โจทก์ที่ 3 และนางจินดา ว่า จำเลยที่ 1 นางประดับ ว่า จำเลยที่ 2
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกเลิกคำคัดค้านการขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 และห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ขัดขวางการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดิน ให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทแต่ละคนได้รับตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.6 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 2 ในคดีสำนวนหลัง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับทั้งสองสำนวน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีสำนวนแรก และให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 590 ตำบลบ้านไทร (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) โดยถือทางสาธารณประโยชน์ตามเส้นประสีเหลืองในแผนที่เอกสารหมาย จ.6 เป็นเส้นแบ่งออกเป็นที่ดินฝั่งเหนือและที่ดินฝั่งใต้ ให้จำเลยทั้งสองได้ที่ดินฝั่งเหนือในเนื้อที่เท่าๆ กัน และให้โจทก์ทั้งสามได้ที่ดินฝั่งใต้ในเนื้อที่เท่า ๆ กัน ตามตำแหน่งที่แต่ละคนถือครองกันมาแต่เดิม ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดี จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 ขอให้ศาลเรียกโจทก์ที่ 1 มาสอบถามถึงการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดพร้อม
ในวันนัดพร้อม โจทก์ที่ 1 แถลงว่า ได้ไปยื่นเรื่องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้นัดรังวัดที่ดินวันที่ 6 ธันวาคม 2545
ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่าโจทก์ที่ 1 นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามที่ศาลฎีกาพิพากษา
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2545 ว่า โจทก์ที่ 1 ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โดยโจทก์ที่ 1 ได้อาศัยความกว้างและความยาวตามที่ปรากฏในแผนที่เอกสารหมาย จ.6 เป็นหลัก และที่โจทก์แจ้งให้เจ้าพนักงานรังวัดให้วัดเนื้อที่ให้ได้ 100 ตารางวา เพื่อแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เป็นการแบ่งให้ตามที่ปรากฏในคำฟ้องของจำเลยที่ 2 และตามคำเบิกความของนายเสถียรช่างรังวัดผู้จัดทำแผนที่เอกสารหมาย จ.6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดพร้อม
วันนัดพร้อม โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลมีคำสั่งทำแผนที่วิวาทแสดงแนวเขตเส้นประสีเหลืองตามเอกสารหมาย จ.6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำแผนที่วิวาทตามที่ร้องขอ หลังจากเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จัดส่งแผนที่วิวาท ซึ่งศาลหมาย จ.ล.1 แต่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังไม่อาจตกลงกันได้เนื่องจากโจทก์ที่ 1 อ้างว่า เส้นแบ่ง คือ เส้นประสีเหลือง ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่าเส้นแบ่งที่เป็นแนวของทางสาธารณประโยชน์ คือ เส้นสีเขียว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนกรณีเกี่ยวกับแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1
ในระหว่างไต่สวน จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนความและสรรพเอกสารให้ศาลฎีกาตีความและอธิบายคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าในส่วนที่มีการพิมพ์หมายเลขของเอกสารในคำพิพากษาศาลฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งความจริงสมควรเป็น จ.6 สมควรให้ศาลฎีกาตีความและอธิบาย แต่สำหรับในส่วนเส้นประสีเหลืองในแผนที่เอกสารหมาย จ.6 ยังไม่ยุติในข้อเท็จจริงต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อน ให้ยกคำร้อง แล้วศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งว่าเส้นประสีดำ – เขียว ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 คือ ทางสาธารณประโยชน์ตามความหมายแห่งเส้นประสีเหลืองตามเอกสารหมาย จ.6 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 30 ตุลาคม 2546 ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 1) ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2545 ให้คู่ความฟังแล้ว ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้แบ่งที่ดินพิพาทโดยถือทางสาธารณประโยชน์ตามเส้นประสีเหลืองในแผนที่เอกสารหมาย จ.6 เป็นเส้นแบ่งออกเป็นที่ดินฝั่งเหนือและที่ดินฝั่งใต้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.6 มีรายละเอียดในคำวินิจฉัยและวิธีการแบ่งที่พิพาทโดยชัดแจ้ง ซึ่งคู่ความสามารถนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแล้วแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้ได้ตามสัดส่วนตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 และตามรายละเอียดในคำพิพากษาของศาลฎีกาอยู่แล้ว ดังนั้น ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแผนที่วิวาทให้เป็นไปตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 และแนวเขตทางเดินคอนกรีตตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ขึ้นใหม่นั้นเพื่อหาแนวเส้นประสีเหลืองตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 อีกครั้ง ถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องเรื่องที่ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วกลับมาเป็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ซึ่งไม่ชอบด้วยวิธีการในชั้นบังคับคดี ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คู่ความร่วมกันนำรังวัดเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแผนที่วิวาทตามเอกสารหมาย จ.ล.1 นั้น จึงไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 30 ตุลาคม 2546 แล้วให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไปนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share