แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521มาตรา 23 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นพิเศษที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษตาม ป.วิ.พ.แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในอันที่จะได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55
จำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบแล้วจำเลยสั่งซื้อกระดาษมวนบุหรี่จากบริษัท จ.ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้เรือขนส่งกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมาส่งมอบให้โรงงานยาสูบที่ประเทศไทย จำเลยจึงเป็นเจ้าของกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวซึ่งนำกระดาษมวนบุหรี่มาจากต่างประเทศโดยทางทะเล อันเป็นผู้ส่งของตามความหมายของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 4
จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบและเป็นผู้ส่งของตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 4 ใช้เรือ ว.ซึ่งมิใช่เรือไทยในการบรรทุกนำกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบโดยเสียค่าระวางการรับขนเป็นเงิน 698,745.24 บาทจำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนของคือกระดาษมวนบุหรี่นั้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521มาตรา 22 เป็นเงิน 1,397,490.48 บาท
กฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 ข้อ 1 กำหนดให้ของที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ต้องบรรทุกโดยเรือไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น จะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาเอง หรือโดยผ่านทางตัวแทนหรือผู้รับจัดการขนส่ง ดังนั้น แม้บริษัท ท.เป็นผู้รับจัดการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาท แต่เมื่อปรากฏว่า เรือ ว.ซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบในประเทศไทยมิใช่เรือไทย จำเลยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนกระดาษมวนบุหรี่นั้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 22
ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา22 วรรคสาม และกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527 ข้อ 4จำเลยในฐานะผู้ส่งของตามความหมายของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ.2521 และคู่สัญญาผู้ขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ส่งของคือกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทโดยเรือ ว.และมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษมาชำระให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่เรือว.เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวจนพ้นกำหนดชำระแล้ว จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้นให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,397,490.48บาท นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินต้นแล้วเสร็จ
สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (3) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีนั้นเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปอายุความดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่คดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 22 นี้
แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมพิเศษตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มิใช่สิทธิเรียกร้องที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่จำนวน๓๙๐,๐๐๐ ม้วน ในราคา ๓๕๓,๗๓๐,๐๐๐ เยน ให้แก่โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ต่อมาวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๐ จำเลยสั่งและนำเข้ากระดาษมวนบุหรี่จำนวน ๔๐,๐๐๐ ม้วน หนัก ๑๖๔,๕๙๗ กิโลกรัม ปริมาตร๓๗๖.๖๕๓ ลูกบาศก์เมตร จากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งมิใช่เรือไทย เป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้าดังกล่าวนำเข้ามาประเทศไทยโดยมอบหมายให้บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นผู้รับจัดการขนส่งให้แก่จำเลย เรือเวสเทอนลัคกี้นำสินค้าเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่๒๑ กันยายน ๒๕๓๐ กระดาษมวนบุหรี่ที่จำเลยสั่งและนำเข้ามาดังกล่าวมีค่าระวางขนของจำนวน ๒๗,๑๔๖.๒๘ เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทย ๖๙๘,๗๔๕.๒๔บาท เป็นสินค้าซึ่งมีน้ำหนักและปริมาตรรวมทั้งเงินค่าระวางสำหรับการขนของเกินกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงคมนาคมที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องบรรทุกด้วยเรือไทย และเส้นทางเดินเรือจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนของเพื่อมาส่งมอบให้แก่โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังได้ จำเลยจึงต้องใช้เรือไทยบรรทุกของดังกล่าวตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๑๗, ๒๒ กฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๓(พ.ศ.๒๕๒๗) และกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน๒๕๒๗ และวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จำเลยใช้เรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งมิใช่เรือไทยบรรทุกของดังกล่าวฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑จำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการขนของนั้น จำนวน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๔๘ บาท แก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๒๒ และเมื่อพ้นกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่เรือเวสเทอนลัคกี้ขนของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรจำเลยยังไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษมาชำระแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปีของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน๒๕๓๐ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๔ ปี ๑๑ เดือน ตามกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๓(พ.ศ.๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๗ ข้อ ๔ รวมเป็นเงินค่าธรรมเนียมพิเศษและดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น ๑,๙๑๓,๔๙๙.๐๓ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๙๑๓,๔๙๙.๐๓ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๔๘ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ติดต่อให้บริษัทแจแปน พัลพ์ แอนด์เปเปอร์ จำกัด ขายกระดาษมวนบุหรี่รวมทั้งสิ้น ๓๙๐,๐๐๐ ม้วน ให้แก่โรงงานยาสูบโดยจำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่แทนบริษัทแจแปน พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์จำกัด เมื่อบริษัทแจแปน พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นจัดส่งกระดาษมวนบุหรี่มายังประเทศไทยให้แก่โรงงานยาสูบ บริษัทดังกล่าวให้แผนกขนส่งของบริษัทนั้นติดต่อกับบริษัทตัวแทนของบริษัทไทยเดินเรือทะเลจำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมให้รับจัดการเป็นผู้ขนส่งให้บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด มีเรือสำหรับเดินเรือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเป็นเรือไทยทั้งหมด จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่ โรงงานยาสูบเป็นเจ้าของสินค้ากระดาษมวนบุหรี่ ๓๙๐,๐๐๐ม้วน และเป็นคนสั่งหรือนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศโดยทางทะเลเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๐ เที่ยวเรือ จำเลยเป็นเพียงผู้ชี้ช่องให้บริษัทแจแปน พัลพ์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ขายกระดาษมวนบุหรี่ให้แก่โรงงานยาสูบเท่านั้น จำเลยไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหรือสั่งเข้ามาซึ่งกระดาษมวนบุหรี่ จำเลยมิใช่ผู้ส่งของในฐานะเป็นเจ้าของสินค้าหรือผู้สั่งหรือนำของมาจากต่างประเทศโดยทางทะเลซึ่งจะต้องรับผิดตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ทั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ซึ่งรับจัดการขนส่งสินค้ากระดาษมวนบุหรี่ก็เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ย่อมต้องใช้เรือไทยในการจัดการขนส่ง และใบตราส่งในเที่ยวเรือที่ ๙ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ของโจทก์ ก็ระบุแสดงให้เห็นว่าเป็นสายการเดินเรือไทยเรือที่ขนส่งเป็นเรือไทย เพราะไม่ปรากฏในใบตราส่งเลยว่าเรือเวสเทอนลัคกี้มิใช่เรือไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เพราะพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๒๓ บัญญัติว่า “เพื่อให้ได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ซึ่งต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว รวมทั้งให้มีอำนาจสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษโดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่มาตรา ๒๓ ได้ให้อำนาจไว้ กรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่มาตรา ๒๓ ให้อำนาจไว้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล จำเลยจึงยังไม่ได้โต้แย้งการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ กรณีจึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๑ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๓) แล้ว เพราะสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมมีกำหนดอายุความ ๒ ปี แต่โจทก์ไม่ได้เรียกเอาตามกำหนดอายุความดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๕๖บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๕จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยขายกระดาษมวนบุหรี่จำนวน ๓๙๐,๐๐๐ ม้วน ให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังในราคา ๓๕๓,๗๓๐,๐๐๐ เยน แล้วจำเลยสั่งซื้อกระดาษมวนบุหรี่จากบริษัทแจแปน พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่น และใช้เรือขนส่งกระดาษมวนบุหรี่จำนวนดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมาส่งมอบให้โรงงานยาสูบที่ประเทศไทยจำนวน ๑๐ เที่ยว เส้นทางเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนของได้ตามประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องกำหนดเส้นทางเดินเรือที่ผู้สั่งหรือนำของเข้ามาจากต่างประเทศต้องบรรทุกของนั้นโดยเรือไทย ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๗ สำหรับการขนส่งสินค้าที่เกิดกรณีพิพาทคดีนี้ มีการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่จำนวน๔๐,๐๐๐ ม้วน หนัก ๑๖๔,๕๙๗ กิโลกรัม ปริมาตร ๓๗๖.๖๕๓ ลูกบาศก์เมตรจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มาส่งมอบให้โรงงานยาสูบโดยเรือเวสเทอนลัคกี้ ซึ่งจำเลยเสียค่าระวางการรับขนกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวตามน้ำหนักและปริมาตรของกระดาษมวนบุหรี่เป็นเงิน ๒๗,๑๔๖.๒๘ เหรียญสหรัฐ-อเมริกา คิดเป็นเงินไทยจำนวน ๖๙๘,๗๔๕.๒๔ บาท เรือเวสเทอนลัคกี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๐ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยแก้ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๒๓ บัญญัติว่า “เพื่อให้ได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ซึ่งต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว รวมทั้งให้มีอำนาจสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษ โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่กรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล จึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ เพราะจำเลยยังไม่ได้โต้แย้งการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ นั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ.๒๕๒๑ ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นพิเศษที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในอันที่จะได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหานี้จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ และเรือเวสเทอนลัคกี้ที่จำเลยใช้ขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทเป็นเรือไทยหรือไม่ ปัญหาว่าจำเลยเป็นผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ หรือไม่นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า”ผู้ส่งของ” หมายความว่าเจ้าของของหรือตัวแทนซึ่งส่งของไปยังหรือสั่งหรือนำของมาจากต่างประเทศโดยทางทะเล และ “ของ” หมายความว่า สินค้าสิ่งของหรือสัตว์มีชีวิต ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายกระดาษมวนบุหรี่เอกสารหมาย จ.๔ แล้วจำเลยสั่งซื้อกระดาษมวนบุหรี่จากบริษัทเจแปน พัลพ์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้เรือขนส่ง กระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมาส่งมอบให้โรงงานยาสูบที่ประเทศไทยจำเลยจึงเป็นเจ้าของกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวซึ่งนำกระดาษมวนบุหรี่มาจากต่างประเทศโดยทางทะเล อันเป็นผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ส่วนในปัญหาว่าเรือเวสเทอนลัคกี้เป็นเรือไทยหรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑มาตรา ๔ บัญญัติว่า “เรือ” หมายความว่า เรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งทางทะเลและ “เรือไทย” หมายความว่า เรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยที่ใช้ในการขนส่งทางทะเล ซึ่งจำเลยมีนายชูนิชิ โอคามอโต้ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทนิโฮ่น กามิ จุนยู โซโกะ คาบูชิกิ คัยชะ ผู้จัดการส่งสินค้าออกให้แก่บริษัทแจแปนพัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ระหว่างปี ๒๕๒๙ ถึงปี ๒๕๓๐ ซึ่งจัดส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทเข้ามาให้โรงงานยาสูบ เบิกความเป็นพยานลอย ๆ เพียงว่า พยานเข้าใจว่าเรือที่จัดส่งกระดาษมวนบุหรี่เข้ามา เป็นเรือที่มีสัญชาติไทย ส่วนโจทก์มีนางสาวสมศรี กิจเจริญวงศ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการ ๕ ของโจทก์ในระหว่างปี ๒๕๒๖ถึงปี ๒๕๓๕ และเป็นผู้คิดคำนวณค่าธรรมเนียมพิเศษในคดีนี้เบิกความเป็นพยานว่าเรือเวสเทอนลัคกี้ เป็นเรือสัญชาติปานามา มิใช่เรือไทยหรือเรือเช่าที่ได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับเรือไทย นอกจากนี้แล้วโจทก์ยังมีนายศรีปาล ศรีเปารยะนิติกร ๔ กองนิติการและการต่างประเทศของโจทก์ เบิกความเป็นพยานด้วยว่าได้เคยติดต่อสอบถามนายทะเบียนเรือไทย กรมเจ้าท่า เพื่อขอทราบว่าภายในช่วงระยะเวลาที่ขนสินค้าพิพาทในคดีนี้ เรือที่ใช้ขนมีสัญชาติไทยหรือไม่ และได้รับตอบว่าเรือดังกล่าวไม่มีสถานภาพเป็นเรือไทย โดยโจทก์มีเอกสารหมายจ.๑๘ ซึ่งเป็นหนังสือที่กรมเจ้าท่าแจ้งให้โจทก์ทราบว่ากรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนแล้วไม่ปรากฏว่าในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๒ ถึง ๒๑ กันยายน๒๕๓๐ มีชื่อเรือเวสเทอนลัคกี้อยู่ในสารบบทะเบียนเรือไทยแต่อย่างใดเป็นพยานหลักฐานประกอบอีกด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าเรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทมามิใช่เรือไทย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่จำนวน ๓๙๐,๐๐๐ ม้วน ให้แก่โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังและเส้นทางเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนของได้ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดเส้นทางเดินเรือที่ผู้สั่งหรือนำของเข้ามาจากต่างประเทศต้องบรรทุกของนั้นโดยเรือไทย ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน๒๕๒๗ ในการส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทมาจากต่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยทางเรือตามเส้นทางเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยนั้น จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบจึงมีหน้าที่ต้องส่งกระดาษมวนบุหรี่นั้นโดยเรือไทยตามกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน๒๕๒๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๓๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ลงวันที่ ๙กรกฎาคม ๒๕๓๐ ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบและเป็นผู้ส่งของตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ใช้เรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งมิใช่เรือไทยในการบรรทุกนำกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามาประเทศญี่ปุ่นเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบโดยเสียค่าระวางการรับขนเป็นเงิน๖๙๘,๗๔๕.๒๔ บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนของคือกระดาษมวนบุหรี่นั้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๒๒ เป็นเงิน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๔๘ บาทที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ผู้ส่งของที่จะต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษจะต้องมีเจตนาหรือประสงค์ที่จะไม่ใช้เรือไทยในการขนส่งจริง ๆ คดีนี้จำเลยผู้ส่งของมิได้ทำการขนส่งด้วยตนเองแต่ได้ตกลงให้บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ซึ่งเป็นสายการเดินเรือแห่งชาติเป็นผู้รับจัดการขนส่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษนั้น เห็นว่า กฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๒๗)ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ ข้อ ๑กำหนดให้ของที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ต้องบรรทุกโดยเรือไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการองค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น จะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาเอง หรือโดยผ่านทางตัวแทนหรือผู้รับจัดการขนส่ง ดังนั้น แม้บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นผู้รับจัดการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทตามที่จำเลยแก้ฎีกาแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เรือเวสเทอนลัคกี้ซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบในประเทศไทยมิใช่เรือไทยจำเลยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนกระดาษมวนบุหรี่นั้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑มาตรา ๒๒ เป็นเงิน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๔๘ บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษนับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จหรือไม่ในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑มาตรา ๒๒ วรรคสาม บัญญัติว่า “ให้ถือว่าภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ผู้ส่งของส่งของโดยเรืออื่น…และเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วมิได้เสียให้ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระ” และกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ ๓(พ.ศ.๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๗ ข้อ ๔ กำหนดว่า “ให้ผู้ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมพิเศษนำเงินมาชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการ-พาณิชยนาวีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เรือซึ่งขนของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อพ้นกำหนดชำระแล้วหากยังไม่ได้ชำระ ให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้น” จำเลยในฐานะผู้ส่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ และคู่สัญญาผู้ขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงมีภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ส่งของคือกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทโดยเรือเวสเทอนลัคกี้ และมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษมาชำระให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นวันที่เรือเวสเทอนลัคกี้เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวจนพ้นกำหนดชำระแล้ว จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้นให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินจำนวน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๔๘บาท นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินต้นแล้วเสร็จ
ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๑ และมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๓) เพราะค่าธรรมเนียมพิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.๒๕๒๑ มิใช่ค่าภาษีอากร และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ เกินกว่า ๒ ปีนับแต่วันที่เรือเวสเทอนลัคกี้ที่อ้างว่ามิใช่เรือไทยเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่๒๑ กันยายน ๒๕๓๐ นั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๓) ซึ่งมีอายุความ ๒ ปี นั้นเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป อายุความดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่คดีนี้ และที่ประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๓๑ บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้” นั้น แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมพิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ.๒๕๒๑ มิใช่สิทธิเรียกร้องที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๓๙๗,๔๙๐.๔๘บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ.