คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือไปถึงโจทก์ข้อความว่า ‘ตามที่ทางบริษัทกรุงเทพบูรพา จำกัด ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัท ท่านเพื่อประกันภัยตัวเรือบางกอกโอเรียนท์ 1, 2 และ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ เอม. เอช. 00576 เอม. เอช. 00577 และ เอม. เอช. 00578 สัญญาประกันภัยเริ่มคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2519 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2520 ฯลฯ เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวยืนยันว่าจำเลยได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ฟ้อง จริงและต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยก็ยังได้ ทำคำให้การรับรองข้อความตามหนังสือดังกล่าวอีกด้วย ถือว่า หนังสือดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยได้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามความหมายของ มาตรา 867 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของเรือบางกอกโอเรียนท์ ๑, ๒ และ ๓ และได้เอาประกันภัยตัวเรือทั้งสามลำไว้กับโจทก์มีระยะเวลา ๑ ปี โดยโจทก์ได้ออกหนังสือกรมธรรม์ประกันภัยไว้ ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือแจ้งขอเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันภัย โดยจำเลยไม่เคยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์เลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย จำนวน ๒๑๗,๘๒๙.๐๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเอาประกันภัยเรือทั้งสามลำตามฟ้องไว้กับโจทก์จริงจำเลยขอประกันภัยไว้มีกำหนดเพียง ๓ เดือน แต่โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยระบุเวลาประกันภัย ๑ ปี จำเลยเคยทักท้วง และจำเลยได้ชำระเบี้ยประกันภัย ๓ เดือนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยงดจ่ายเบี้ยประกันภัยงวดต่อไปและแจ้งบอกเลิกสัญญาประกันภัยสัญญาจึงสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.๑๒ ซึ่งเป็นหนังสือบอกเลิกการประกันภัยมิใช่หลักฐานอันเป็นสัญญาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๗ โจทก์ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือตามเอกสารหมาย จ.๑๒ เป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ตามความหมายของมาตรา ๘๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปความใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๗ วรรคแรกบัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่าหลักฐานตามมาตรา ๘๖๗ นี้มิใช่แบบที่กฎหมายบังคับไว้ในมาตรา ๑๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่จำเป็นต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีข้อตกลงกันอย่างไรบ้าง ฉะนั้นแม้สัญญาประกันภัยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็มีผลเป็นสัญญาถูกต้องตามกฎหมายหากเพียงแต่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้เท่านั้น ความประสงค์ของกฎหมายก็ให้มีหลักฐานเป็นหนังสือในกรณีเช่นนี้ ก็เพียงเพื่อความมั่นคงแน่นอน กฎหมายหาบังคับไว้ว่าจะต้องเขียนหรือทำในรูปแบบอย่างใดไม่ ฉะนั้นถ้าหากมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ปรากฏว่าข้อความชัดแจ้งพอรับฟังได้ว่ามีการตกลงทำสัญญาประกันภัยและปรากฏลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว ศาลย่อมบังคับได้ตามหลักฐานนั้น ๆ เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.๑๒ ซึ่งเป็นหนังสือของจำเลยมีไปถึงโจทก์แล้ว ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า “ตามที่ทางบริษัทกรุงเทพบูรพา จำกัด ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทท่านเพื่อประกันภัยตัวเรือบางกอกโอเรียนท์ ๑, ๒ และ ๓ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ เอม.เอช. ๐๐๕๗๖, เอม.เอช. ๐๐๕๗๗ และ เอม.เอช. ๐๐๕๗๘ สัญญาประกันภัยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๐ ฯลฯ” เห็นได้ว่า ข้อความดังกล่าวยืนยันว่าจำเลยได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ฟ้องจริงแต่ด้วยเหตุผลภายในบริษัทบางประการ จำเลยจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาประกันภัยดังกล่าว และต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยก็ยังได้ทำคำให้การรับรองข้อความตามหนังสือดังกล่าวอีกด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ถือว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.๑๒ เป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยได้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามความหมายของ มาตรา ๘๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้
พิพากษายืน

Share