คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7248/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8 นั้น เป็นเพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง เพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง ข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้จะรับฟังว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 72,915.75 บาท และมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายก็ตาม แต่มูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้นั้นเป็นมูลหนี้เกิดขึ้นในปี 2532 ซึ่งยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดเพียง 36,077.25 บาทเท่านั้น โจทก์รอจนกระทั่งปี 2539 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย พฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี 2532 ทำให้ต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง 72,915.75 บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยปรากฏว่าบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นของจำเลยปิดประตูใส่กุญแจอยู่ในลักษณะทิ้งร้างเท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้เข้าไปตรวจดูว่ามีทรัพย์สินอื่นใดบ้างกลับแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าไม่มีทรัพย์สินของจำเลยอยู่ในบ้านและโจทก์ก็มิได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไปทำการยึดทรัพย์สินมาเบิกความสนับสนุนให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่าไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึดได้จริง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีกรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว กรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2677/2536 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 39,836.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปีในต้นเงิน 36,077.25 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 72,915.75 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เท็จจริงที่โจทก์นำสืบคงปรากฏแต่เพียงนายพละชัย จันทร์ทัด ทนายความของโจทก์มาเบิกความว่า ภายหลังศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ขอให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยตามสำเนาหมายบังคับคดีเอกสารหมาย จ.4ต่อมาสืบทราบว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 21/21 หมู่ที่ 6 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรีตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จึงได้มีหนังสือทวงถามไปให้จำเลยชำระหนี้รวม 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่หนังสือทวงถามดังกล่าวถูกส่งคืนให้โจทก์โดยพนักงานไปรษณีย์บันทึกว่า จำเลยไม่มารับภายในกำหนดตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 ครั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีออกไปยึดทรัพย์จำเลย แต่ไม่มีทรัพย์สินใดให้ยึด ตามสำเนารายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารหมาย จ.9 จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ถือว่าต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวเป็นแค่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลายไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง เพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้ว แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน 72,915.75 บาทและมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่มูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้นั้น เป็นมูลหนี้เกิดขึ้นในปี 2532 ซึ่งยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดเพียง 36,077.25 บาทเท่านั้น รอจนกระทั่งปี 2539 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายพฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี2532 ทำให้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง 72,915.75บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าว ปรากฏว่าเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น มีชื่อจำเลยในฐานะเจ้าบ้านได้ความเพียงว่าบ้านปิดประตูใส่กุญแจอยู่ในลักษณะทิ้งร้างเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าไปตรวจดูว่ามีทรัพย์สินอื่นใดบ้างกลับแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าไม่มีทรัพย์สินของจำเลยอยู่ในบ้านและโจทก์ก็ไม่ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไปทำการยึดทรัพย์สินมาเบิกความสนับสนุนให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่า ไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึดได้จริง อันถือได้ว่าจำเลยตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่อย่างใด และคดีก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีก รูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share