คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7244/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันชักชวนและนำพาบุคคลต่างด้าว 22 คน ให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วร่วมกันจัดหาพาหนะให้บุคคลต่างด้าวเหล่านั้นโดยสารเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร อันเป็นการอุปการะช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงการร่วมกันช่วยเหลือ ซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ล้วนเป็นการกระทำความผิดที่เป็นภัยอันตรายต่อประเทศชาติทั้งในด้านความมั่นคงและด้านสังคมอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางให้คนต่างด้าวเข้ามาปลอมตัวเป็นคนสัญชาติไทยและเข้ามาก่ออาชญากรรมทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรงอยู่เนือง ๆ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทย สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจให้แก่คนไทยโดยใช่เหตุ ยิ่งกว่านั้น คนต่างด้าวบางรายยังนำโรคติดต่อที่ยากต่อการบำบัดรักษา สร้างปัญหาทางด้านสาธารณสุขให้แก่คนในชาติอีกด้วย ลักษณะการกระทำความผิดของ จำเลยทั้งห้ากับพวกถือเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 15, 57, 67, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63, 64 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63, 64 (ที่ถูกมาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันช่วยเหลือซ่อนเร้น เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุกคนละ1 ปี และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปีรวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปีส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีและจำคุกจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 คนละ 1 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในข้อหาความผิดที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันกระทำด้วยการชักชวนและนำพาบุคคลต่างด้าวจำนวน 22 คนให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วร่วมกันจัดหาพาหนะให้บุคคลต่างด้าวเหล่านั้นโดยสารเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร อันเป็นการอุปการะช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงการร่วมกันช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวที่จำเลยทั้งห้ากับพวกชักชวนและนำพาเข้ามาในราชอาณาจักรพ้นจากการถูกจับกุม ล้วนเป็นการกระทำความผิดที่เป็นภัยอันตรายต่อประเทศชาติทั้งในด้านความมั่นคงและด้านสังคมอย่างมาก กล่าวคือ นอกจากจะเป็นช่องทางให้คนต่างด้าวเหล่านั้นเข้ามาปลอมตัวเป็นคนสัญชาติไทยและเข้ามาก่ออาชญากรรมทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรงอยู่เนือง ๆ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทยสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจให้แก่คนไทยโดยใช่เหตุยิ่งกว่านั้นคนต่างด้าวบางรายยังนำโรคติดต่อที่ยากต่อการบำบัดรักษา สร้างปัญหาทางด้านสาธารณสุขให้แก่คนในชาติอีกด้วยลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงประเภทหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 อีกต่างหาก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกจึงสมควรต้องถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษตามที่จำเลยทั้งห้าฎีกาขอมาที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าโดยไม่รอการลงโทษนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share