แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19 ต้องเป็นกรณีผู้ประกอบธุรกิจตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกผู้จำหน่ายอิสระซึ่งหาสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระเพิ่มและต้องซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ผลประโยชน์ตอบแทนไม่ได้คำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่าย หากแต่คำนวณจากสินค้าที่จำหน่ายแก่สมาชิกที่หาได้เพิ่มเติม จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545มาตรา 3, 19, 46, 54
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19, 46, 54 จำเลยที่ 1 ลงโทษปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโต้แย้งว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง มาตรา 40 (5) ประกอบมาตรา 30
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งความเห็นและข้อโต้แย้งของจำเลยที่ 2 ตามทางการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลโดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใด อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจขายตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโดยสมัครเป็นสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระและซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนหากสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระผู้ใดหาสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระมาเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าอีก และเงินผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระสามารถหาสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระเพิ่มขึ้นเป็นชั้น ๆ ไป ตามแผนการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน (แบบ BINA-M เอเชี่ยนเจมส์) อันเป็นการตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เป็นสมาชิกเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น นายนพปฎล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแผนซึ่งมีหลักว่า สมาชิกที่ต้องการสร้างรายได้จะต้องไปสร้างเครือข่าย ซ้าย ขวา ภาษาธุรกิจทั่วไปเรียกว่า DOWNLINE และจะมีรายได้จากยอดสะสมในการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 จำนวน 4,900 บาท เมื่อสร้างเครือข่ายและซื้อสินค้าเช่นเดียวกันเป็นชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิกคนแรกเป็นเงิน 4,500 บาท ชั้นที่ 2 ก็จะไปสร้างสมาชิกเป็นเครือข่ายชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ซึ่งจะต้องมีจำนวนสมาชิกที่จำเลยที่ 1 กำหนดตามแผน สมาชิกคนแรกก็จะได้ผลประโยชน์ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด สมาชิกผู้จำหน่ายอิสระมีสิทธิ์ซื้อสินค้าไว้ใช้เองหรือจำหน่ายให้ผู้บริโภคคนอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งจะได้กำไรจากการขายปลีกเป็นรายได้ส่วนหนึ่ง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจภูธรเมืองบุรีรัมย์ว่า จำเลยที่ 1 สร้างเครือข่ายในลักษณะปิรามิด โดยบังคับให้สมาชิกซื้อสินค้า พยานพิจารณาในเบื้องต้นแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามแผนที่ยื่นต่อนายทะเบียน ดังนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดเจนว่าแผนการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน (แบบ BINA-M เอเชี่ยนเจมส์) ตามที่โจทก์ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจขายตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19 แต่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกผู้จำหน่ายอิสระซึ่งหาสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระเพิ่มและต้องซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสำนักงานแห่งใหญ่ที่จังหวัดนนทบุรี คดีนี้เหตุเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระในจังหวัดบุรีรัมย์ไม่เข้าใจหรือไม่ปฏิบัติตามแผนการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 และต้องการผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 รวบรัดโดยสมัครสมาชิกซ้ำหลายรหัส ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง