คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯโจทก์ฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 ออกใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้พระราชบัญญัตินี้มาปรับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาขึ้นมา เมื่อคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา และมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกสั้นไว้ในครอบครอง และมีกระสุนปืนคาร์บิน 1 นัด ซึ่งเป็นกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517มาตรา 3 กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2501) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 แต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องแยกเป็น 2 กระทงความผิดต่างกรรมต่างวาระกันขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยอีกกระทงหนึ่งฐานมีอาวุธปืนไม่รับอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 ออกมาใช้บังคับ ตามมาตรา 3, 5 บัญญัติให้โอกาสแก่ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือที่ใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม นำไปขอรับอนุญาตหรือนำไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ จึงต้องถือว่าในระหว่างนั้นกฎหมายยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนและกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต แสดงว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้พระราชบัญญัตินี้มาปรับกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรกแม้จำเลยไม่ได้ฎีกาขึ้นมา เมื่อคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา และมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ได้

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share