คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7239/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบกิจการขายเครื่องประดับเพชรพลอย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายมีอำนาจบังคับบัญชาและให้คำแนะนำแก่พนักงานขายซึ่งมีจำนวนประมาณ 150 คน จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ในการขายและช่วยเหลือการขายของพนักงาน การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงินเดือนโจทก์ทั้งสอง เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองและให้ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมปฏิบัติตาม คำสั่งดังกล่าวก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑๒๗,๕๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คนละ ๕๒,๓๙๒ บาท และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๓๒,๐๗๐ บาท และ แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๒๖,๒๔๐ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองคนละ ๑๒๗,๕๐๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ ๔๒,๔๘๐ บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยประกอบกิจการขายเครื่องประดับเพชรพลอยให้แก่ชาวต่างประเทศ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๐ และวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ตามลำดับ ครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย มีอำนาจบังคับบัญชาและให้คำแนะนำแก่พนักงานขายซึ่งมีจำนวนประมาณ ๑๕๐ คน และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละเดือนละ ๔๒,๕๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไปและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไป ทำหน้าที่ในการขายและช่วยเหลือการขายของพนักงาน และในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำเลยมีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสองไปเป็นพนักงานขายและลดเงินเดือนลงคนละ ๗,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ของจำเลยและละทิ้งหน้าที่การงานตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงินเดือนละ ๗,๐๐๐ บาท นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ทั้งสอง กล่าวคือเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองจากตำแหน่งที่มีอำนาจบังคับบัญชาให้คำแนะนำแก่พนักงานขายคนอื่นมาเป็นเพียงพนักงานขายทั่ว ๆ ไป อีกทั้งลดเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้ประจำที่มีจำนวนแน่นอนลงอีกด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองและให้ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ทั้งสอง ฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสอง ไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวของจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและ เป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .

Share