คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี เมื่อผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยไม่จำต้องได้เงินจากผู้ถูกหลอกลวงจนครบตามจำนวนที่หลอกลวงและไม่จำต้องมีการส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศ
ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 พร้อมกันในคราวเดียวกัน แม้ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 แต่ละคนจะมอบเงินให้แก่จำเลยคนละคราวกันหรือไม่ ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียวไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี 30 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงเกินกว่า 5 ปี ขึ้นไป โจทก์จึงต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง แต่พยานหลักฐานของโจทก์มีเพียงคำให้การของผู้เสียหายทั้งห้าที่ให้การต่อนักวิชาการแรงงานว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งห้าว่าสามารถหางานให้ผู้เสียหายทั้งห้าไปทำงานต่างประเทศได้โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ จึงไม่พอฟังลงโทษจำเลย ทั้งเงินที่จำเลยได้ไปจากผู้เสียหายทั้งห้าก็เป็นเงินค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายทั้งห้าจะต้องเสียอยู่แล้วสำหรับทุกคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศโดยจำเลยไม่ได้รับประโยชน์จากเงินจำนวนดังกล่าว การกระทำของจำเลยขาดเจตนาทุจริตนั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมิใช่ข้อหาความผิดตามที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้นที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย ส่วนที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยยังไม่ได้รับเงินจากผู้เสียหายอีกคนละ 40,000 บาท ผู้เสียหายทั้งห้ายังไม่ได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศตามที่จำเลยหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เท่านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษ…”จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดสำเร็จตามบทบัญญัตินี้แล้ว โดยไม่จำต้องได้เงินจากผู้ถูกหลอกลวงจนครบตามจำนวนที่หลอกลวงและไม่จำต้องมีการส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด และฎีกาข้อกฎหมายต่อว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกันคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 เวลากลางวัน ดังนั้น แม้จำเลยจะหลอกลวงผู้เสียหายต่างคนกัน แต่เมื่อเป็นการหลอกลวงในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยในวันดังกล่าวที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นกรรมเดียว แต่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 พร้อมกันในคราวเดียวกัน แม้ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 แต่ละคนจะมอบเงินให้แก่จำเลยคนละคราวกันหรือไม่ ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียว ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งห้าจนเป็นที่พอใจและผู้เสียหายทั้งห้าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย และจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายทั้งห้าซึ่งเป็นคนยากไร้ต่อเนื่องกันหลายคน การกระทำของจำเลยสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ต้องการหางานทำเพื่อหาเงินมาใช้เลี้ยงชีพ นับเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 4 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share